Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Monday, October 22, 2007

ค.อ.ส.ของอาจารย์ปุระชัย ฯ ไม่มีเสื่อม

ค.อ.ส.ของอาจารย์ปุระชัย ฯ ไม่มีเสื่อม

กรกฎาคม 2547

ในช่วงปี 2546-47 นี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น สังคมเริ่มสนใจคดีจี้ชิงทรัพย์บนสะพานลอย จี้บนรถเมล์ ฯลฯ อาชญากรรมต่อชีวิตและทรัพย์สิน ประเภทลัก วิ่ง ชิง ปล้น ข่มขืน นี้ จัดเป็นอาชญากรรมพื้นฐาน ความจริงอาชญากรรมประเภทนี้ ก็เกิดขึ้นทุก ๆ วันอยู่แล้ว เพราะทำง่าย เปิดโอกาสนิดเดียวก็ทำได้ ถ้าหากคิดเป็นความเสียหายแล้วก็ไม่แพ้อาชญากรรมประเภทอื่น คิดเป็นจำนวนคดีก็มากกว่าอาชญากรรมประเภทอื่น ฉะนั้น จงอย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ หรือดูถูกว่ากระจอก
ที่สำคัญก็คือ อาชญากรรมประเภทนี้เกิดขึ้นกับประชาชนระดับรากหญ้า และพวกที่ยังไม่พ้นยอดหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ คนมีกะตังค์ส่วนมากไม่ค่อยได้มีโอกาสได้เจอเคราะห์กรรมกับตัวเอง ก็เพราะว่าพี่ท่านนั่งรถเก๋งติดแอร์ ตั้งแต่ออกนอกบ้านจนกระทั่งกลับเข้าบ้าน ไม่ได้นั่งรถเมล์ ไม่ได้ขึ้นสะพานลอย ไม่ได้เดินตรอกซอกซอย ไม่ได้ซ้อนท้ายจักรยานยนต์รับจ้าง เหมือนชาวรากหญ้าทั้งหลาย
ยิ่งสถานการณ์ภาคใต้ มีตายแทบจะเป็นรายวัน ยิ่งต้องรีบเร่งจัดการ ชีวิตจะมีความหมายอะไร ถ้ามัวแต่หลบภัย หรือไปไหนมาไหนมีแต่หวาดระแวง

นโยบายรัฐบาลท่าน พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ฯ แถลงไว้เมื่อต้นปี 2544 ก็มีด้าน “ความปลอดภัยของประชาชน” ดังนี้
1. ดูแลให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นมาตรการทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท พร้อมทั้งจัด ระบบป้องกันสาธารณภัยและอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทันท่วงที
2. สนับสนุนให้ ประชาชนมีส่วนร่วม ในการป้องกันอาชญากรรมและสาธารณภัยใน ชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง

แต่น่าเสียดายครับ รัฐบาลยังให้ความสำคัญเรื่องอื่น เช่น ปากท้อง กับสุขภาพ มาก่อนเรื่องความปลอดภัย ปัญหาชาติมีมาก พวกเราก็ต้องอดใจรอไปก่อน ท่านขอเวลา 4-5 ปีเพื่อจัดการกับตำรวจ

กำลังตำรวจมีน้อยไม่เพียงพอจริงหรือ?

ถามว่าทุกวันนี้ ตำรวจทำงานหรือเปล่า ต้องบอกว่าทำครับ แต่ประสิทธิภาพดีไหม หรือประชาชนพึงพอใจบริการแค่ไหน ก็ต้องทำโพลความรู้สึกของประชาชน อย่างที่ท่านนายกฯ เคยกล่าวในพิธีเปิดประชุมทางวิชาการระดับชาติว่าด้วยงานยุติธรรม ครั้งที่ 1 เมื่อ 17 ก.ค.2546 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่า

“ ……... ตำรวจเป็นเจ้าพนักงานยุติธรรมขั้นต้น ถ้าตำรวจไม่สามารถให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนได้ในเบื้องต้น ต่อให้มีอัยการและผู้พิพากษาชั้นดีอย่างไร ในท้ายที่สุดก็ว่าไม่เป็นธรรมอยู่ดี...........ฉะนั้น ตำรวจจึงเป็นหน่วยงานที่ต้องปรับปรุงก่อนหน่วยงานอื่น แต่บังเอิญตำรวจมีจำนวนมากถึง 2 แสนกว่าคน จึงปรับปรุงไม่ค่อยได้ ต้องปรับปรุงที่ศาลก่อน ........เรื่องการบริหารจัดการเป็นเรื่องใหญ่กว่างบประมาณ ........
สิ่งที่แน่นอนอีกอย่างหนึ่ง คือ เรื่องการวิจัย เป็นสิ่งที่ (ผม) อยากจะเห็นในทุกขั้นตอน วิจัยการทำงานของตำรวจ .......... ”

ในอดีต ผู้เขียนจำได้ว่าเคยได้ยินผู้บริหารตำรวจชอบพูดว่ากำลังตำรวจมีน้อย แต่เมื่อปีก่อน ท่านนายกฯ ยกตัวเลขสัดส่วนของจำนวนตำรวจไทยต่อประชากร อยู่ที่ราว 1 ต่อ 250
ตัวเลขสัดส่วนเฉลี่ยของตำรวจทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 400
ที่อินเดีย ตำรวจ 1 คน ดูแลประชาชน 750-800 คน
แต่มาเลเซีย ข้างบ้านเรา ตัวเลขสัดส่วน ประมาณ 1 คน ดูแลประชาชน 300 คน
จากตัวเลขเปรียบเทียบ แสดงว่าจำนวนตำรวจไทยน่าจะถือว่ากำลังพอดี ๆ ต้องบริหารจัดการเพื่อให้กำลังตำรวจส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ทำงานหลักที่ควรต้องทำ ต้องเกลี่ยกำลังจากส่วนที่เกินไปส่วนที่ขาด


เพิ่มประสิทธิภาพตำรวจด้วยเทคโนโลยี

น่าดีใจครับ ที่ได้ทราบว่า ขณะนี้รัฐบาลมีแผนจัดทำระบบโทรทัศน์วงจรปิด และระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางโทรศัพท์ 191 ในสามจังหวัดภาคใต้ที่มีปัญหา ถูกต้องแล้วครับ เพราะตำรวจต้องทำงานโดยอาศัยเทคโนโลยี ทุกวันนี้ ตำรวจไทยใช้เทคโนโลยีในกิจการตำรวจน้อยมาก

ประมาณ 15 ปีมาแล้ว นายตำรวจอาชีพท่านหนึ่งได้ริเริ่มเอาเทคโนโลยีมาช่วยการปฏิบัติงานตำรวจ เรียกชื่อว่า เครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (SOS) ท่านชี้แจงในการสัมภาษณ์ของกองบรรณาธิการวารสารเซมิคอนดัคเตอร์อิเล็คทรอนิคส์ ว่า
“ แนวความคิดนี้เกิดขึ้นในสมัยที่ผมเป็นตำรวจ..... ถ้าเกิดเหตุ(ร้าย) (ประชาชน) เขาแจ้งมาว่า ขณะนี้กำลังเกิดเหตุ (มี)คนร้ายอยู่ที่บ้าน ...... ในความรู้สึกของตำรวจ อยากจะไปดู อยากจะไปแล้วเห็น (และจับ) คนร้าย ไม่อยากไปถึงแล้ว คนร้ายไปไหนก็ไม่รู้ มันก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ”

แนวคิดของระบบ SOS ก็คือ ประชาชนที่เป็นสมาชิก สามารถแจ้งเหตุมายังตำรวจได้ทางวิทยุ และเมื่อศูนย์ได้รับแจ้งแล้วก็จะส่งข้อมูลเกี่ยวกับเหตุนั้นๆให้แก่ตำรวจ ซึ่งก็เป็นข้อมูลให้ตำรวจทราบและสามารถเดินทางไปยังที่เกิดเหตุได้รวดเร็ว
นายตำรวจผู้ที่ผมกล่าวถึง ก็คือ ท่านนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคำสัมภาษณ์นั้น ท่านยังบอกด้วยว่า
“ เรื่องของ SOS นี่นะครับ เป็น project ที่ ผมรักมาก แต่เป็น project ที่ผมไม่มีกำไรเลย แต่............ ผมคิดว่า หนึ่งผมได้ (ตอบแทนคุณ) คืนให้กับตำรวจ สองผมได้ integrate ประสบการณ์ในชีวิตของผมมากมาย ..... ผมได้ทำอะไรบางอย่างให้ตำรวจ ”

สมกับที่ต่อมาท่านได้ประกาศต่อประชาชนไทยว่าจะ “ ทดแทนคุณแผ่นดิน และทำงานการเมืองด้วยหัวใจเสียสละ” สรุปว่า โครงการ SOS นี้ ทำให้ ท่านสุขใจ แต่กำไรไม่มี และโครงการนี้ ก็เจ๊งเรียบร้อยไปแล้ว

สามทฤษฎีที่ไม่มีเสื่อม

เชื่อไหมครับว่าท่านอาจารย์ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ เสนอแนวคิดจัดระเบียบสังคมในหนังสือ “ การควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อม: หลัก ทฤษฎี และมาตรการ ” โดย “ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ” เข้าใจว่าคงเคยสอนที่สถาบันนิด้า มากว่า 20 ปีแล้ว สรุปทฤษฎีว่าด้วยการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม 3 ทฤษฎี ดังนี้
1. ทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement Approach) อาศัยวิธีการสายตรวจเป็นหลัก เน้นการปรากฎตัว การแต่งเครื่องแบบ ให้ชุมชนรู้สึกว่ามีตำรวจอยู่ทั่วไป ครอบคลุมทุกแห่งหน
2. ทฤษฎีชุมชนสัมพันธ์ ( Community Relations Approach) อาศัยความร่วมมือภายในชุมชน ให้มีส่วนร่วมในการป้องกันชึวิตทรัพย์สินของตนและผู้อื่น
3. ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม (Crime Control through Environmental Design) อาจารย์ปุระชัย เรียกย่อเป็นภาษาไทยว่า ทฤษฎี ค.อ.ส.

แม้เวลาจะผ่านมานานแล้ว แต่แนวคิดก็มิได้ล้าสมัยแต่อย่างใด สามารถนำมาปรับใช้ได้เสมอตามความเหมาะสม ทฤษฎีแรกต้องใช้กำลังตำรวจจำนวนมากเพื่อดูแลรับผิดชอบพื้นที่ ส่วนทฤษฎีที่สอง ต้องได้ประชาชนมาเป็นฝ่ายเราช่วยเป็นหูตาให้ แต่ถ้าประชาชนเป็นฝ่ายตรงข้าม ทฤษฎีนี้คงไปไม่รอด เราสังเกตดูอาการว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม ได้ดังนี้
­ ประชาชนจงเกลียดจงชัง อาชีพตำรวจไม่มีศักดิ์ศรี
­ ประชาชนให้ความร่วมมือน้อยลง ไม่ต้องหวังว่าตำรวจจะหาข่าวหรือเบาะแส ได้ง่าย
­ ประชาชนไม่เคารพยำเกรงตำรวจ อาจถึงขั้นทำร้าย
­ การบังคับใช้กฏหมายไม่เป็นผล
สำหรับทฤษฎีที่สาม คือ ทฤษฎี ค.อ.ส. ซึ่งอาจารย์ปุระชัยฯ ย่อมาจาก “ ควบคุมอาชญากรรมโดยสภาพแวดล้อม ” นั้นเดี๋ยวนี้ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Crime Prevention Through Environmental Design ใช้คำย่อว่า CPTED (ออกเสียง เซ็ปเต็ด) ในที่นี้ ผู้เขียนขอเรียก ค.อ.ส. ตามอาจารย์ปุระชัยฯ ทฤษฎี ค.อ.ส. นี้เป็นการปรับใช้สภาพแวดล้อมในการควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์

ค.อ.ส.คัมแบ็ค

ตอนแรกที่เริ่มคิดทฤษฎี ค.อ.ส. นี้ใหม่ๆ ( 20 ปีมาแล้ว ) สมัยนั้น สภาพอาชญากรรมไม่ค่อยน่าหวาดกลัว ทฤษฎี ค.อ.ส.จึงหายเงียบไปพักหนึ่ง แต่อยู่ๆ ช่วงไม่กี่ปีนี้ กลับมาสนใจกันอีก ก็เพราะเหตุก่อการร้ายระบาดไปทั่วโลกนี่แหละครับ
สมัยนั้น นักอาชญวิทยาไม่ค่อยสนใจ โดยเฉพาะสถาปนิกหรือนักออกแบบ ยิ่งไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ เพราะมัวแต่ห่วงความปลอดภัยเมื่ออาคารไฟไหม้ แผ่นดินไหว มากกว่าความปลอดภัยจากอาชญากรรม แต่เดี๋ยวนี้ หลายประเทศ (เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย แคนาดา ฮ่องกง สิงคโปร์)เริ่มรณรงค์ให้สถาปนิกออกแบบโดยคำนึงถึงภัยอาชญากรรมเพิ่มขึ้นมาอีกภัยหนึ่ง บางรัฐในสหรัฐอเมริกาหรือบางประเทศตราเป็นกฎหมายให้การออกแบบอาคาร สถานที่ ต้องผ่านเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาชญากรรมด้วยก็มี
หัวใจสำคัญของ ค.อ.ส. คือปรับสภาพแวดล้อมและใช้ประโยชน์สภาพแวดล้อมในการลดโอกาสการก่ออาชญากรรม และช่วยทำให้สภาพแวดล้อมดูปลอดภัยไม่น่ากลัว หลักการหรือกลยุทธ์ของ ค.อ.ส. มี 4 ข้อ ดังนี้
ก. เฝ้าระวังโดยธรรมชาติ (natural surveillance)
ข. ควบคุมการเข้าออกโดยธรรมชาติ (natural access control)
ค. แบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน (territorial reinforcement)
ง. บริหารจัดการ (maintenance & management)

กลยุทธ์ทั้งสี่ข้อนี้ ดูค่อนข้างซ้อนและคาบเกี่ยวกัน เพราะต่างอาศัยธรรมชาติของสภาพแวดล้อมมาเป็นประโยชน์ในการป้องกันอาชญากรรม จะเห็นว่า เป็นกลยุทธ์ที่แตกต่างจากระบบรักษาความปลอดภัยทั่วไป ซึ่งเน้นติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย กลอนล็อคปิดเปิดประตู ระบบโทรทัศน์วงจรปิด แต่ระบบรักษาความปลอดภัยของ ค.อ.ส.กลับเน้นใช้สภาพแวดล้อมที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ในทางที่ทำให้คนร้ายรู้สึกว่าเป็นเขตหวงห้าม และถูกเฝ้าระวังอยู่ จึงไม่อยากเสี่ยงกระทำผิด
สรุปก็คือ ค.อ.ส.เพิ่มการพึ่งพาความปลอดภัยโดยธรรมชาติ (natural security) และลดการพึ่งพาความปลอดภัยโดยอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคส์ (electronic security)

ก. เฝ้าระวังโดยธรรมชาติ (natural surveillance)
หลักข้อนี้ใช้ความจริงที่ว่า คนร้ายไม่อยากให้คนมองเห็น ไม่ชอบให้ใครจำหน้าได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้ พื้นที่นั้นมีการเฝ้าระวังโดยธรรมชาติ เช่น
­ ทำให้ดูโล่ง เอาสิ่งที่กำบังสายตาออกไป เพื่อให้คนทั่วไปสามารถมองเห็นผู้บุกรุกได้ง่าย
­ ทำหน้าต่าง ประตูให้หันออกไปทางถนน หรือที่จอดรถ
­ ปรับทางเท้าหรือถนน ทำเฉลียงประตูหน้าบ้าน
­ ติดไฟแสงสว่าง
­ ทำระเบียงหรือกำแพงให้โปร่งใส
­ กำจัดมุมอับ และที่ลับตาออกไป
­ จัดกิจกรรมเพื่อให้มีคนพลุกพล่านใกล้เคียงหรือในบริเวณที่ล่อแหลม เพื่อให้มีคนช่วยเฝ้าระวังมากขึ้น





ห้องคอมพิวเตอร์ซึ่งดูทึบ เมื่อเจาะหน้าต่างให้มองโล่งจะทำให้การเฝ้าระวังดีขึ้น




สรุปแล้ว หลักการเฝ้าระวัง ไม่ใช่เพื่อขับไล่ผู้บุกรุก (ความจริงเหมือนขับไล่) แต่เพื่อเฝ้าระวังให้ผู้บุกรุกอยู่ในสายตา

ข. ควบคุมการเข้าออกโดยธรรมชาติ (natural access control)วิธีควบคุมการเข้าออกได้แก่ การใช้ประตู รั้ว พุ่มไม้เตี้ยๆ คูน้ำ แนวต้นไม้ เพื่อกันให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากบริเวณนั้น ถ้าเป็นบ้านพักอาศัย เรามักจะติดตั้งกลอน เหล็กดัด ฯลฯ แต่ถ้าเป็นพื้นที่สาธารณะ หรือกึ่งสาธารณะ การควบคุมเข้าออกต้องพิจารณาเป็นพิเศษ เช่น จัดทางเข้า ทางออก ทำรั้ว จัดทิวทัศน์ (landscaping) ติดตั้งไฟแสงสว่าง หรือแค่ตั้งโต๊ะเป็นที่ต้อนรับ หรือตรวจตราการเข้าออกก็ได้










แนวพุ่มไม้ป้องกันคนปีนขึ้นหลังคาได้สะดวก

เนื่องจากการควบคุมเข้าออกของที่สาธารณะค่อนข้างยากกว่าปกติ แต่เราสามารถใช้วิธีควบคุมโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า “ สิ่งกีดขวางทางจิตวิทยา ” (psychological barrier) เช่น ติดป้าย ทำเครื่องหมาย ตีเส้นบนพื้น ไม้กั้น เพื่อประกาศให้ทราบว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่เฉพาะ
หลักของสิ่งกีดขวางทางจิตวิทยา ก็คือ ถ้าพื้นที่ดูแปลกไปจากธรรมดา หรือเข้าออกยากกว่าธรรมดา คนร้ายก็จะเปลี่ยนใจไม่อยากรบกวน

ค. แบ่งพื้นที่ให้ชัดเจน (territorial reinforcement)
มนุษย์เราโดยธรรมชาติจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ของตน และเคารพสิทธิ์ในพื้นที่ของคนอื่น ฉะนั้น เราจึงออกแบบให้มองเห็นชัดเจนว่า พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ควบคุมและหวงห้าม ไม่ใช่ที่สาธารณะ ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะรู้สึกว่ากำลังบุกรุกหรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น เช่น
­ สร้างทางเท้าเป็นแนวแบ่งพื้นที่
­ ทำทิวทัศน์ โดยใช้ต้นไม้ คู ร่องน้ำ ให้แบ่งเป็นแนวเขตหรือรั้ว



รั้วเตี้ยๆกั้นเป็นแนวช่วยแบ่งพื้นที่ส่วนตัวของจากพื้นที่สาธารณะ

ง. บริหารจัดการ (maintenance & management)
เรื่องนี้เป็นความร่วมมือ สมัครสมาน กลมเกลียวของคนในชุมชน ซึ่งมีความห่วงใย หวงแหนพื้นที่ชุมชนของตน ร่วมกันสร้างความน่าอยู่ ร่มรื่นให้กับชุมชน โดยการจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์ ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการในส่วนที่ร่วมกันของชุมชน
โดยทั่วไปในชุมชน อาจจะมีที่รกร้าง พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้สอย สิ่งปรักหักพัง ต้นไม้พงหญ้า บ้านร้าง บางครั้งกลายเป็นที่เสื่อมโทรม ที่ซ่องสุมพวกมิจฉาชีพ ชุมชนต้องสอดส่องดูแล กำจัดที่รกร้างให้โปร่งตา ไม่เป็นพื้นที่ล่อแหลมให้เกิดอาชญากรรม

ความสำเร็จของ ค.อ.ส.

หลายปีก่อน ในสหรัฐอเมริกา มีโครงการใหญ่ๆ สร้างแฟลตที่พักอาศัย ปรากฎว่า แฟลตเหล่านี้กลายเป็นแหล่งเพาะอาชญากรรม หลังจากได้วิเคราะห์ปัญหากันก็พบว่ามีสาเหตูมาจากการออกแบบอาคารสถานที่มีจุดบกพร่อง กล่าวคือคำนึงถึงแต่ความสวยงาม แต่มีมุมอับและที่ลับตาทำให้คนร้ายประกอบอาชญากรรมได้ง่าย เมื่อปรับสภาพแวดล้อมเสียใหม่ โดยยังคงความงดงามอยู่ แต่เพิ่มความปลอดภัยได้มหาศาล แม้ ค.อ.ส. จะมีต้นกำเนิดมาจากโครงการแฟลต แต่เดี๋ยวนี้ ค.อ.ส.ได้รับความนิยมขยายวงไปใช้ในการออกแบบอาคาร, สำนักงาน, ศูนย์การค้า, โรงงาน, แฟลตพักอาศัย, ที่สาธารณะต่างๆ และอื่นๆ อีก
ด้วยเหตุนี้เอง ที่ในยุคที่ก่อการร้ายระบาด จึงได้มีการเรียกร้องให้ทั้งฝ่ายรัฐและเอกชนร่วมมือกันสอดส่องระวังภัยอาชญากรรมต่อสาธารณะ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียว
ค.อ.ส.จะได้ผลดีและแทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายเลย ถ้าได้คิดวางแผนกันเสียตั้งแต่เริ่มขั้นออกแบบ มิฉะนั้น ก็ต้องปรับแก้ทีหลัง แบบวัวหายล้อมคอก (แต่ก็ยังดีที่ยังได้ล้อม) ลองดูตัวอย่างจริงต่อไปนี้
สมัยหนึ่ง ร้านสะดวกซื้อ (convenience store) จะมีพนักงานทำงานอยู่ที่มุมห้อง บางทีมีกองสินค้า หรือป้ายบอกราคาหรือป้ายโฆษณาเชิญชวน มาตั้งบังสายตาเสียอีก ยิ่งตอนหัวค่ำ ลูกค้ามาจับจ่ายซื้อของ หน้าร้านก็สับสนวุ่นวาย เพราะมีตู้โทรศัพท์สาธารณะตั้งเรียงไว้ กลายเป็นแหล่งทิ้งขยะเลอะเทอะไปด้วย นอกจากนี้ยังแผงป้ายโฆษณาแขวนบังหน้าร้านอีก ฉะนั้นการปล้นจี้ร้านจึงเกิดขึ้นได้ง่าย และตำรวจก็ไม่สามารถทราบเหตุการณ์ได้ทันท่วงที ทั้งๆ ที่จัดสายตรวจตระเวนไปมาอยู่บ่อยๆ
หลังจากได้วิเคราะห์ปัญหานี้ จึงได้ทำการย้ายแผงโฆษณาสูงขึ้น หรือหลบออกไปด้านอื่นเพื่อให้เห็นโล่งจากภายนอก เพิ่มไฟแสงสว่าง ย้ายแคชเชียร์ให้อยู่กลางร้าน ยกพื้นให้สูงขึ้น ตำรวจสามารถเห็นได้จากนอกร้าน ย้ายโทรศัพท์สาธารณะไปด้านข้างไม่ให้บังร้าน ป้ายราคาหรือโฆษณาในร้านถูกย้ายไปข้างใน มุมอับลับตาถูกกำจัด พื้นที่ล่อแหลมถูกเปิดเผยให้เห็นโล่ง
เมื่อปรับสภาพแวดล้อมของร้านไปแล้ว คนร้ายก็ต้องย้ายที่ไปหากินร้านอื่น แต่ก็จะหากินยากขึ้นเพราะร้านทั้งหลายก็ทะยอยปรับสภาพแวดล้อมไปจนครบแล้ว
จะเห็นว่านอกจาก ค.อ.ส.ช่วยเพิ่มความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น สะดวกต่อการดูแล ลดการสูญเสียที่ไม่จำเป็น

ค.อ.ส.กับเมืองไทย
ครับ ค.อ.ส.ไม่ใช่ของใหม่สำหรับเมืองไทย วงการตำรวจนั้นสอนกันมาหลายปีดีดัก โบราณก็สอนว่า “ กันไว้ดีกว่าแก้ ” กับ “ วัวหายล้อมคอก ” ฉะนั้น ถ้าเราป้องกันมิให้เกิดอาชญากรรมได้ย่อมประหยัดกว่าที่จะปล่อยให้เกิดแล้วไปปราบปรามกันทีหลัง
แต่งานป้องกัน บางทีก็ไม่ค่อยน่าสนใจเท่ากับงานปราบ เพราะอยู่เบื้องหลัง สู้มือปราบไม่ได้ทำงานเดียวก็ดังแล้ว แต่มือป้องกันทำงานอยู่หลายปี ยังไม่ค่อยมีใครถามถึง
แนวคิด ค.อ.ส.นี้ หากจะขับเคลื่อนกันจริงๆ ท้องถิ่นจะมีบทบาทมากทีเดียว เพราะในบ้านเมืองจะต้องตกลงกันเสียก่อนว่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ส่วนตัว (private area) หรือพื้นที่กึ่งส่วนตัว (semi-private area) หรือพื้นที่กึ่งสาธารณะ (semi-public area) หรือพื้นที่สาธารณะ (public area)
สำหรับพื้นที่สาธารณะ คงไม่เป็นปัญหา ฝ่ายรัฐก็รับผิดชอบจัดการตามหน้าที่ปรับสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยจากอาชญากรรม
แต่ถ้าไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ เจ้าของพื้นที่ดูแลกันเองอยู่แล้ว แต่ถ้าหากพื้นที่เหล่านี้ ล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม ท้องถิ่นสามารถกำหนดว่าจะให้ใครเป็นผู้ดูแล และรับผิดชอบต่อผลนั้นเพียงใด มิฉะนั้นแล้ว ก็จะเกิดข้อโต้แย้ง ดังนี้
­ ท่านไปช็อปปิ้งที่ห้างฯ เอารถไปจอดในอาคารจอดรถ รับบัตรเข้าจอด จอดเสร็จ ล็อครถไว้ ขากลับรถหายหรือรถโดนงัด สรุปว่า จะให้ รปภ.รับผิดชอบ หรือ ห้างฯ รับผิดชอบ ทุกวันนี้ไม่ทราบว่า สังคมตกลงเรียบร้อยหรือยัง ว่าใครรับผิดชอบอะไร อย่างไร ผลสุดท้ายจะกลายเป็นตัวใครตัวมัน ถ้าตกลงกันว่าเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ ให้เจ้าของพื้นที่จัดระบบรักษาความปลอดภัยในระดับใด จึงจะถือว่าสมควรแก่หน้าที่ หากยังเกิดเหตุร้าย ก็ถือว่าได้ดูแลตามสมควรแล้ว ดีกว่าพิมพ์ไว้หลังบัตรจอดรถปฏิเสธความรับผิด
­ ท่านพักอยู่ที่แฟลต ออกไปธุระนอกบ้าน กลับมาตอนค่ำ ระหว่างเดินขึ้นห้องพัก คนร้ายดักอยู่จี้ชิงทรัพย์ ไม่ว่าท่านจะจ่ายค่า รปภ.หรือไม่ก็ตาม ท่านจะเรียกร้องอะไรจากเจ้าของพื้นที่ได้ ถ้ากำหนดให้พื้นที่ระหว่างทางเข้าก่อนถึงห้องพักเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะ เจ้าของพื้นที่ต้องจัดระบบรักษาความปลอดภัยในระดับใด จึงจะถือว่าสมควรแก่หน้าที่

หรือจะให้ตำรวจเป็นเจ้าภาพก็คงได้ แต่เห็นจะต้องยกเครื่องตำรวจเสียก่อน เพราะทุกวันนี้ดูองค์กรตำรวจยังเจ็บป่วยอยู่ ท่านนายกฯอาจจะส่งด๊อกเตอร์ (แปลว่าหมอ) มาผ่าตัดหน่วยให้มีสุขภาพแข็งแรง ตำรวจจึงจะพร้อมลุยได้ เมื่อตำรวจได้รับความเป็นธรรมโดยเฉพาะด้านผลตอบแทน ไม่ต้องมัววิ่งเต้นตลอดชีวิต (เพื่อรักษาความเป็นธรรมให้ตัวเอง) เมื่อนั้นตำรวจก็จะทำหน้าที่ได้เต็มความสามารถ

*********************

เอกสารอ้างอิง
1. บทสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร : กองบรรณาธิการวารสารเซมิคอนดัคเตอร์อิเล็คทรอนิคส์ ฉบับที่ 93 เดือน ก.ค.2532
2. “ การควบคุมอาชญากรรมจากสภาพแวดล้อม: หลัก ทฤษฎี และมาตรการ ” โดย “ ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ” สำนักพิมพ์บรรณกิจ (พ.ศ.2525)
3. “Crime Prevention Through Environmental Design Guidebook” – National Crime Prevention Council , Police Headquarters, Singapore Police Force.
4. Crime Prevention Through Environmental Design – Anchorage Police Department, Alaska, USA หรือ www.muni.org/apd1/cpted.htm

1 comment:

joby said...

เยี่ยมเลยคับ เพิ่งอ่าน ค.อ.ส. ของท่านอ.ปุระชัย จบไปหมาดๆ