Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Monday, October 22, 2007

จัดระเบียบสังคมด้วยกล้องและระบบโทรทัศน์วงจรปิด

จัดระเบียบสังคมด้วยกล้องและระบบโทรทัศน์วงจรปิด

กรกฎาคม 2545

กล่าวนำ

ชั่วระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ มีข่าวคราวในสื่อมวลชนเกี่ยวกับกล้องอยู่หลายเรื่อง เช่น
· กล้องตาทิพย์มองทะลุเสื้อผ้าได้ กล้องแอบถ่ายในห้องน้ำผู้หญิง ในห้องลองเสื้อในห้างดัง แอบถ่ายในโรงแรมม่านรูด ลานจอดรถ
· กล้องดักถ่ายภาพของนักข่าวไอทีวี กรณีส่วยทางด่วน แอบถ่ายบ่อนพนัน แอบถ่ายค่าเดินเอกสารของหน่วยราชการหน่วยไหนจำไม่ได้ ที่มีพิธีรีตองพวกเอกสารมากมายจนน่ารำคาญ
· กล้องจับภาพของห้าง กรณีหญิงแอบกินซาลาเปา
· กล้องแอบถ่ายนักการเมืองอินเดีย รับเงินสินบนจากบริษัทค้าอาวุธ
· กล้องแอบถ่ายข้าราชการไทยจำไม่ได้ว่าหน่วยใด รับเงินอะไรก็ไม่รู้ ออกอากาศทาง ไอทีวี
· กล้องบันทึกภาพคุณหมอ (ที่โดนข้อหาฆ่าภรรยาตัวเอง) เดินคู่กันหน้าห้าง ก่อนที่ภรรยาจะหายตัวไป
· ร้านขายทองจับภาพขณะที่คนร้ายต่อสู้กับตำรวจ
· ฯลฯ
เห็นหรือยังว่า กล้องถ่ายวิดิโอมีอานุภาพขนาดไหน ถ้าไม่ดักถ่าย คนทั้งประเทศจะมีบุญวาสนาได้เห็นแบ๊งก์ยี่สิบปลิวว่อนบนทางด่วนได้อย่างไร และถ้าไม่แอบถ่ายให้เห็นว่ากำลังแทงพนันกัน ใครจะไปเชื่อว่าว่ามีบ่อนอยู่กลางเมือง และ ฯลฯ ถ้าไม่มีภาพถ่ายวิดิโอมายืนยันกันจะจะ อย่างนี้ หัวหน้าหน่วยรับผิดชอบก็จะต้องเฉไฉ ปฏิเสธกันตามระเบียบ แล้วสังคมเราก็จะเป็นสังคมไร้ระเบียบ เป็นสังคม double standard
กล้องถ่ายวิดิโอนั้น นอกจากจะใช้งานในด้านบันเทิง หรือด้านสัปดนแล้ว เอามาใช้ในทางสร้างสรรค์ก็ได้ ใช้วิธี “ฟ้องด้วยภาพ” อย่างนี้นี่แหละคือประโยชน์ของกล้องถ่ายวิดิโอที่เหมาะกับสังคมไทย เลิกโต้เถียง บ่ายเบี่ยง แกล้งโง่ แกล้งเซ่อกันเสียที เราสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มหาศาล เห็นหรือยัง นี่แหละคือเครื่องมืออันทรงพลังที่สามารถนำไปใช้ในการจัดระเบียบสังคม
ก่อนที่จะได้ภาพมาฟ้องกันได้ ต้องมีกล้องวิดิโอเสียก่อน จากนั้นก็ต้องมีการบันทึกภาพ บางสภาวะ เราถือกล้องถ่ายได้ตามใจเลย แต่บางสถานที่ เจ้าของเขาจะสงวนสิทธิ์ไม่ยอมให้ถ่าย เว้นแต่จะได้รับอนุญาต และยังมีบางสถานที่ที่เจ้าของไม่ยอมให้ถ่ายเด็ดขาด ถ้าฝ่าฝืน อาจ...?..ได้ สถานที่แบบนี้ เราต้องใช้เทคนิคฝีมือในการแอบถ่าย จับภาพสำคัญ ๆ โดยซ่อนกล้องไว้ แล้วต่อสัญญาณมาเข้าเครื่องบันทึกไว้ เทคนิคอย่างนี้ต้องใช้มืออาชีพ ก็รู้สึกว่าเทคนิคแอบถ่ายที่ว่านี้ เห็นมีออกอากาศอยู่ช่องเดียว น่าสงสัยจริงๆว่าทำไมโทรทัศน์ 6 ช่องที่เราดูฟรีกันทุกวัน มีทำเป็นอยู่ช่องเดียวได้ยังไง ช่องอื่นตั้งมาก่อนเขาไม่คิดทำหรือว่าทำไม่เป็น มันน่าแปลก!!
ปกติ สถานที่สาธารณะทั่วไป เจ้าของสามารถติดตั้งกล้องไว้หลายๆแห่ง โดยทำเป็นระบบโทรทัศน์วงจรปิด บันทึกภาพไว้เพื่อประโยชน์ของตนตามที่ต้องการ

โทรทัศน์วงจรปิดคืออะไร

โทรทัศน์วงจรปิด ภาษาอังกฤษเรียกชื่อว่า Closed Circuit Television ย่อว่า CCTV เป็นระบบที่เอากล้องไปติดตั้งตามสถานที่ต่างๆ ที่ต้องการถ่ายภาพไว้ แล้วต่อสายนำภาพเหล่านั้นมาให้เรามองเห็นได้อย่างสะดวก และส่วนมากก็บันทึกภาพนั้นๆไว้ด้วย สำหรับคำว่า “ วงจรปิด ” หมายถึง การที่ต่อสายเชื่อมระหว่างกล้องและโทรทัศน์เป็นแบบต่อกันตรงๆ เลย
ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ที่ว่านี้ก็มิได้เป็นระบบแปลกใหม่ทันสมัยเท่าไรนัก แต่ที่มาเป็นข่าวกันอยู่บ่อยขึ้นก็เพราะว่า เดี๋ยวนี้กล้องมีราคาถูกลง ขนาดเล็กลง จะใช้เล่นหรือใช้งานก็สะดวกกว่าเดิม อีกหน่อยเอามาใส่ในโทรศัพท์มือถือหรือใส่นาฬิกา ปากกาให้เราใช้พกพาได้ คงทำให้สังคมและชีวิตความเป็นอยู่ของเรา มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง
เพื่อเป็นพื้นฐาน ผู้เขียนได้แยกอธิบายส่วนประกอบต่างๆ ในระบบโทรทัศน์วงจรปิดอย่างง่ายๆไว้ในบทความนี้

ประโยชน์ทั่วไปของระบบโทรทัศน์วงจรปิด

ประโยชน์ของระบบโทรทัศน์วงจรปิด มีมากมายมหาศาล เขียนตัวอย่างใช้งานได้เป็นร้อยๆ ตัวอย่าง จะลองยกตัวอย่างมาให้เห็นพอสังเขป ได้แก่
· เฝ้าดูการจราจรบนทางแยก , สะพาน , ทางด่วน ฯลฯ
· บันทึกภาพในเตาอบเพื่อวิเคราะห์สาเหตุบางอย่างในเตา
· ถ่ายทอดภาพการแข่งขันกีฬาออกมานอกสนาม
· ติดกล้องไว้ท้ายรถบางรุ่นเพื่อสะดวกในการถอยรถ
· ติดไว้ในลิฟท์เพื่อป้องกันเหตุร้าย
· ถ่ายภาพชีวิตสัตว์ป่าซาฟารีโดยติดกล้องไว้บนเฮลิคอปเตอร์วิทยุบังคับ
· ถ่ายภาพทางอากาศโดยติดกล้องบนบอลลูน
· ควบคุมการทำงานใน บริษัท หรือ โรงงาน
· รักษาความปลอดภัยสถานที่ต่างๆ
· ถ่ายภาพหมีแพนด้าหรือลิงอูรังอูตังคลอดลูกในสวนสัตว์
· สำรวจปริมาณการไหลของจราจรเพื่อเป็นข้อมูลในการก่อสร้างเส้นทาง
· ศึกษาวิจัยการมองเห็นแสงอินฟราเรดของปลาเงินปลาทอง
· ฯลฯ

ตัวอย่างการใช้มีอีกมากมาย แล้วแต่ความคิดในการสร้างสรรค์และจินตนาการของผู้ใช้ แต่ในที่นี้ จะขอกล่าวเฉพาะด้าน เฝ้าระวัง รักษาความปลอดภัยและควบคุมอาชญากรรม ข้อดีของระบบโทรทัศน์วงจรปิด เป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไป เช่น
· ในงานรักษาความปลอดภัย ช่วยให้ประหยัด และมีประสิทธิผลดีกว่า
· เฝ้าระวังได้ต่อเนื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง สะดวกในการปฏิบัติงาน
· ช่วยให้สภาพแวดล้อมมีความปลอดภัย ป้องกันผู้บุกรุก ป้องกันอุบัติเหตุหรือ ไฟไหม้
· ป้องปรามโจรภัย เพราะเมื่อโจรมองเห็นกล้อง ก็มักจะเปลี่ยนใจไปที่อื่น
· เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน เพราะผู้ควบคุมสามารถเห็นภาพรวมได้ทั้งหมด
· ช่วยเพิ่มผลิตภาพ ป้องกันการทุจริต อู้งาน ฯลฯ

ทุกวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่า ประเทศอังกฤษ เป็นผู้นำในการใช้ประโยชน์ของระบบโทรทัศน์วงจรปิด ในด้านการเฝ้าระวัง และควบคุมอาชญากรรม ในทศวรรษที่ผ่านมา มีการลงทุนในกิจการดังกล่าวประมาณ 150-300 ล้านปอนด์ มีการติดตั้งกล้องราวๆ มากกว่า 3 แสนกล้อง (มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 - 20 ต่อปี) ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เช่น ศูนย์การค้า ย่านพักอาศัย อาคารที่จอดรถ ตลอดจนย่านธุรกิจ กับสถานที่สาธารณะที่สำคัญมากมาย ที่นี่เขาใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐเพื่อควบคุมอาชญากรรม และจัดระเบียบสังคม เนื่องจากสภาพแวดล้อมของประเทศ มีความเสี่ยงต่อการก่อการร้ายสูง
สำหรับสถานที่เอกชน ก็ได้นำระบบโทรทัศน์วงจรปิดมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ทั้งย่านคนรวยและย่านคนจนพักอาศัย เข้าใจว่าทีแรก ตั้งใจติดกล้องไว้เพื่อป้องปรามขโมย การดักทำร้าย และโจรกรรมรถยนต์ ปรากฏว่าได้ผลดี ต่อมา ก็เลยขยายผลนำมาใช้ในการจัดระเบียบสังคมด้วย เช่นรณรงค์ พฤติกรรมการทิ้งขยะไม่เลือกที่ ละเมิดกฏจราจร ปัสสาวะในที่สาธารณะ การทะเลาะวิวาท เมาสุรา การทำลายสิ่งของสาธารณะ ฯลฯ

ลดอาชญากรรมด้วยโทรทัศน์วงจรปิด

คงจำกันได้ว่า เมื่อ 2-3 ปีก่อน มีบทความหนึ่งชื่อ “ จดหมายถึงนาย ” ซึ่งโด่งดังมาก ในเว็บ meechaithailand.com เสนอมุมมองของนาย “ ยามวิกาล ” เกี่ยวกับสังคมไทย ขอคัดลงมาให้อ่านอีกครั้ง

“ จดหมายถึงนาย ……
ภาพรวมของประเทศไทย: ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ค่อนข้างยากจน สังคมไทยโดยพื้นฐาน มีลักษณะไร้ระเบียบกฎเกณฑ์ ซึ่งเป็นอุปนิสัยประจำตัวของคนชาตินี้ …….
……………..
ความไร้ระเบียบทางศีลธรรม-จริยธรรม ท่านจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ แต่มีการค้าประเวณี และยาเสพติด อย่างเปิดเผยทั่วไป มีการฆาตกรรมกันมาก การฉ้อราษฎร์บังหลวงมีอยู่ทั่วหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่ในโรงเรียน มีครูโกงเด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ ในวัดซึ่งพระโกงชาวบ้าน หรือราชการหลอกพระ และพุทธศาสนิกชน หรือที่สื่อมวลชนทำกับเยาวชน ตำรวจเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสังคม
……………. ”

อ่านแล้ว อย่าเพิ่งท้อแท้สิ้นหวัง ไม่ต้องไปเถียง และไม่ต้องไปยอมรับ แม้ปัจจุบัน บ้านเมืองของเราเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็ตามที เพราะต่อๆไป เราก็จะมีระเบียบกฏเกณฑ์กันมากขึ้น เนื่องจากเป็นโชคของบ้านเมืองที่เราได้ ผู้นำที่เข้มแข็งและเสียสละ มาช่วยจัดระเบียบสังคมแล้ว ต่อไปสังคมไทยก็จะเป็น double standard น้อยลงๆ ถ้าไม่เชื่อ ลองอ่านบทความ “ คำตอบจากนาย ” ซึ่งเป็นภาคต่อมาของ“ จดหมายถึงนาย ” ขอคัดมาให้อ่านอีกที และช่วยกันภาวนาให้ท่านผู้นำท่านนี้เป็นตัวจริง และเป็นของแท้ ได้โอกาสอยู่ทำงานนี้นานๆ จนสำเร็จ

“ คำตอบจากนาย ……
เราชาวต่างประเทศ พึงระวังย่างก้าวของเรา 5 ประการ คือ (1) ระวังอย่าให้เมืองไทยมีผู้นำที่เข้มแข็งและเสียสละ (2) เราควรเร่งให้คนไทยเข้าใจผิดว่าปัญหาเศรษฐกิจได้รับการแก้ไขแล้ว (3) อย่าให้คนไทยสงสัยในผลของโลกาภิวัฒน์ (4) ระวังอย่าวิพากย์วิจารณ์ระบบราชการไทย ปล่อยให้เป็นเครื่องกัดกร่อนสังคมไทยไปเรื่อยๆ และ (5) พึงทดสอบความไม่อนาทรร้อนใจของผู้นำและคนไทยทั่วๆ ไป เกี่ยวกับเจตนาแอบแฝงของเราชาวต่างชาติ
……………. ”

เพราะว่า ภาพๆ หนึ่ง มีความหมาย รายละเอียดที่สามารถอธิบายได้นับพันคำ ( A picture is worth a thousand words.) เมื่อภาพถูกบันทึกไว้ย่อมใช้เป็นหลักฐานได้ ลองพิจารณาตัวอย่างปัญหาต่อไปนี้
1. มีการก่ออาชญากรรมในสถานที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น เช่นการก่อวินาศกรรมห้างร้าน สถานที่ราชการ, การโจรกรรมในที่จอดรถ, การจี้ ปล้นร้านค้า ธนาคาร, เหตุทะเลาะวิวาทในสถานบันเทิง เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุแล้วไม่มีประจักษ์พยานทำให้เพิ่มภาระการสืบสวนสอบสวน
สมมติ ถ้ามีการบันทึกภาพไว้ ภาระการสอบสวนก็จะน้อยลง ไม่ต้องสอบพยานหลายปาก
2. มีการกระทำผิดบางอย่างเกิดขึ้น แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่เพียงพอเพื่อป้องปรามหรือ ตรวจตราอย่างเข้มงวด ทำให้การบังคับใช้กฏหมายไม่เป็นผล เช่น การฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง การแซงในที่คับขัน
สมมติ ถ้าระดมเจ้าหน้าที่มาคอยนั่งเฝ้าแต่ละจุด ทุกๆจุด วันหนึ่งๆ ก็สิ้นเปลืองเกินเหตุ แต่ถ้าใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดช่วยตรวจจับ หรือโดยหวังผลเพื่อเป็นการป้องปราม ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยประหยัดกำลังเจ้าหน้าที่
3. การเปิดประเทศให้เป็นศูนย์การท่องเที่ยว ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่องสุมอาชญากร และคนร้ายข้ามชาติ มีโอกาสที่จะก่ออาชญากรรมหรือในอนาคตอาจจะนำไปสู่การก่อการร้ายได้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัญหาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอในการเฝ้าระวังสถานที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะ
สมมติ ถ้าใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดคอยเฝ้าระวัง ร่วมด้วย ก็จะช่วยประหยัดกำลังเจ้าหน้าที่
4. คดีส่วนใหญ่ขาดหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลักฐานทางวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงได้ยาก และไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาล แต่ประจักษ์พยานกลับคำให้การได้ ถ้าหากถูกอิทธิพลครอบงำ
สมมติ ถ้ามีการบันทึกภาพไว้ พยานหลักฐานทางคดีเช่นนี้ เปลี่ยนแปลงได้ยาก ไม่เหมือนพยานบุคคล ซึ่งต้องการการคุ้มครอง และบางครั้งกลับคำให้การเพราะกลัวอิทธิพล หรือกลัวเงิน (กลัวได้น้อยหรือกลัวไม่ได้?) นอกจากนี้ ยังตัดปัญหาการจับแพะ หรือปั้นพยานเท็จ
5. ในวงการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ถ้าลองไปถามเจ้าหน้าที่ รปภ.หรือผู้จัดการฝ่าย รปภ.ว่าอยากได้เครื่องมืออะไรไว้ใช้งาน รปภ. เราจะได้คำตอบเดียวกันคือ ระบบโทรทัศน์วงจรปิด (ไม่ใช่ปืน วิทยุรับส่ง รถจักรยานยนต์ ) เหตุผล ก็คือ ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ช่วยให้สามารถทำงานสะดวก มองเห็นภาพรวมของสถานการณ์จากห้องควบคุม สภาพแวดล้อมปลอดภัย ตรวจตราได้ทั่วถึง ป้องกันเหตุไฟไหม้และภัยอื่นๆ มีประสิทธิภาพในการบริหาร ลดการจ้างแรงงานยาม ฯลฯ
สมมติ ถ้าเป็นสถานที่ที่มีโอกาสเกิดอาชญากรรม แล้วไม่ใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดคอยเฝ้าระวัง จะต้องจัดกำลังเจ้าหน้าที่ไปนั่งเฝ้าแบบเฝ้าหน้าร้านทองสักกี่คน จึงจะพอ
6. เรื่อง รปภ.อีกที คดีทะเลาะวิวาทในสถานบันเทิง เกิดอยู่บ่อยๆ เมื่อเกิดเหตุขึ้นไม่รู้ใครเป็นใคร ทุกคนว่าตัวเองถูกทั้งนั้น นอกจากเหตุชุลมุนจะเป็นความยากในการสอบสวนแล้ว ยิ่งบางคดีมีผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ออกมาให้สัมภาษณ์ (แถมถือหาง) ฝ่ายตนด้วย ยิ่งไปกันใหญ่ ไปๆมาๆ ก็จะเลยเถิดให้กลายเป็นประเด็นการเมือง กลายเป็นศึกศักดิ์ศรีสถาบัน
สมมติ ถ้ามีระเบียบให้ รปภ.ในสถานบันเทิงบางประเภทมีการบันทึกภาพวิดิโอไว้ การโต้เถียง ขัดแย้ง ก็จะน้อยลง เพราะภาพมันจะฟ้องตัวเองได้ ผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ก็ไม่กล้าให้สัมภาษณ์ (ตามที่ลูกน้องมาฟ้อง)

ประสพการณ์ของระบบโทรทัศน์วงจรปิดในคดีต่างๆ

คดีลักทรัพย์ในห้าง เกิดขึ้นบ่อยมาก เกิดทุกประเทศ ถ้ามีกล้องคอยดักจับภาพคนขโมย แทบทุกรายจะยอมจำนน รับสารภาพ ไม่กล้าโต้เถียง เมื่อเห็นภาพของตัวเองกำลังขโมย จะเห็นว่า กรณีอย่างนี้ ภาพวิดิโอและของที่ขโมยใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้คดีจบลงเร็ว
พยานหลักฐานที่ชัดเจนอย่างภาพวิดิโอนี้ เป็นผลดีต่อทั้งฝ่ายลูกค้า และฝ่ายห้าง เพราะสามารถเชิญมาดูภาพวิดิโอได้ เป็นวิธีการที่นุ่มนวล ละมุนละม่อม ช่วยมิให้ต้องโต้เถียงกันในที่สาธารณะ ปรากฏเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์หรือสื่ออื่นๆ โดยเฉพาะช่วยคนที่ขโมยของไม่ให้อับอายต่อผู้พบเห็น สำหรับฝ่ายห้างก็มีสิทธิ์ที่จะเลือกว่าจะส่งไปให้ตำรวจดำเนินคดี หรือว่ากล่าวตักเตือน อบรมสั่งสอน ภาพพจน์ของห้างนั้นก็จะไม่เสียหาย เพราะสังคมอาจเห็นว่าห้างไม่มีมนุษยธรรม ในกรณีที่คนขโมยเป็นคนที่น่าสงสารขโมยเพื่อประทังชีวิตตนและครอบครัว
ความจริง ภาพวิดิโอที่บันทึกไว้ไม่เพียงแต่จะแสดงภาพของอาชญากรเท่านั้น แต่ยังบันทึกสภาพเหตุการณ์ ณ เวลาที่เกิดเหตุด้วย เราสามารถย้อนกลับมาเมื่อใดก็ได้ ดูกี่ครั้งก็ได้ ยิ่งกว่านั้น ภาพวิดิโอยังช่วยให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เกิดอารมณ์ และระลึก ทบทวนความจำของเหตการณ์ ได้
มีสถิติที่น่าสนใจของต่างประเทศ จากการสำรวจห้างร้านทั้งเล็กใหญ่ จำนวน 54,000 ร้าน พบว่า ระบบโทรทัศน์วงจรปิด ช่วยลดการขโมยของในห้างลงไปถึงร้อยละ 90 คิดดูแล้ว ราคาของระบบโทรทัศน์วงจรปิด ก็นับว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับมูลค่าสินค้าที่ถูกขโมยที่ลดลง
ในหลายประเทศ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเป็นเครื่องมือปราบและปรามอาชญากรรมที่มีประสิทธิผลมาก (effective tool for crime detection and deterence) ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการสืบสวน สอบสวน และเป็นแนวทางในการดำเนินคดี
ในด้านการจัดระเบียบจราจร ที่ประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย เขาติดตั้งกล้องตรวจจับคนขับรถเร็วไว้บนจุดสำคัญๆที่มักมีอุบัติเหตุ มีทั้งซ่อนไว้ ทั้งเปิดเผย วัตถุประสงค์มิใช่เพื่อจับกุมคนขับรถเร็ว แต่เพื่อปรับพฤติกรรมให้ขับรถช้าลงเพื่อลดอุบัติเหตุ ปรากฏว่า สถิติผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุลดลงไปมาก แต่ก่อนเขาใช้กล้องแบบฟิล์มธรรมดา เกิดปัญหา คือพอฟิล์มหมด นักขับก็เหยียบกันสนั่น เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปใช้กล้องแบบดิจิตอล ให้ส่งภาพมาทางสายโทรศัพท์ ทำให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีได้ทันที ไม่ต้องรอล้างหรือใส่ฟิล์ม สถิติจากกล้องตรวจจับคนขับรถเร็ว ที่อังกฤษ ในปี 1996 ประมาณ 2.6 แสนคดี จากจำนวนกล้องทั้งหมดประมาณ 1500 กล้อง มีรายงานขั้นต้นบอกว่าสถิติคนตายและบาดเจ็บสาหัสเพราะอุบัติเหตุในบริเวณที่ติดตั้งกล้องไว้ลดลงไปราวร้อยละ 47 ภายใน 3 ปีนับตั้งแต่ติดตั้งใช้งาน และรายงานเดียวกันนั้นยังบอกด้วยว่า คนขับรถส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปคือลดความเร็วลง นอกจากนี้ เงินค่าปรับที่ได้ก็มากเกินพอที่จะใช้จ่ายดูแลบำรุงรักษาระบบกล้องตรวจจับคนขับรถเร็ว
ในประเทศอังกฤษ ภาครัฐ (โดยตำรวจ) ได้นำระบบโทรทัศน์วงจรปิด มาใช้ติดตั้งเฝ้าระวังในที่สาธารณะหลายแห่ง โดยสามารถสอดส่าย ก้มเงย ซูมและถ่ายในที่มืดได้ แม้กระทั่งในย่านพักอาศัยและย่านโคมแดง (red light area) นอกจากนี้ ในภาคเอกชน ก็ได้มีการนำระบบโทรทัศน์วงจรปิดมาติดตั้งในที่สาธารณะ เพื่อเฝ้าระวังทรัพย์สินของตนด้วย เช่น ตู้โทรศัพท์ ตู้เอทีเอ็มกดเงิน ในรถเมล์ รถโดยสาร รถไฟ แท็กซี่ ทางเข้าออก ฯลฯ บางแห่ง บางกรณี ตำรวจก็แนะนำให้เหยื่อเคราะห์ร้าย เช่นเด็กรับใช้ ที่ถูกทารุณหรือโดนทุบตี (victims of domestic violence) ซ่อนกล้องเพื่อแอบถ่ายในบ้านพักอาศัยของตน
ความจริงแล้วทีแรก เขาตั้งใจเอาระบบโทรทัศน์วงจรปิดมาใช้ขู่ไล่ (deter) ขโมย โจร คนร้าย แต่ต่อมาได้ขยายผลไปใช้ปราบพฤติกรรมฝ่าฝืนระเบียบ (anti-social behavior) เช่น ทิ้งขยะไม่เลือกที่ (littering) ปัสสาวะในที่สาธารณะ ฝ่าฝืนกฏจราจร เมาสุราอาละวาด หลีกเลี่ยงไม่เสียค่าจอดรถ (evading meters in town parking lots) ฯลฯ
ผลที่ได้รับหลังจากติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด ก็คือ ที่เมืองหนึ่งในสก๊อตแลนด์ อาชญากรรมลดลงไป ร้อยละ 75 สำหรับบางเมือง อาชญากรรมในย่านอุตสาหกรรม ลดลงเล็กน้อย แต่อาชญากรรมในอาคารจอดรถลดลงถึงร้อยละ 90 ในรายงานบอกว่า ไม่เพียงแต่ประชาชนส่วนใหญ่จะชอบ เพราะไปไหนมาไหนได้ รู้สึกปลอดภัย แม้แต่คนร้ายก็ยังชอบ เพราะว่าตนสามารถอ้างพยานหลักฐานที่อยู่ของตนจากกล้องว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธ์
ความจริงแล้ว ระบบโทรทัศน์วงจรปิดช่วยป้องปราม (deter) อาชญากรรมประเภทที่ต้องรอโอกาส กระทำผิด (opportunistic crime) ฉะนั้น ถ้าเราปิดโอกาสที่จะกระทำผิดได้ง่ายๆเสียให้หมด จำนวนคนที่จะกลายเป็นอาชญากรก็จะลดลง
ทั้งๆที่มีข้อมูลสถิติและตรรกะ มากมายขนาดนี้ ก็ยังมีนักวิชาการหลายคนไม่เห็นด้วย เหตุผลก็คือ ข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ และการถ่ายภาพถือว่าละเมิดสิทธิส่วนบุคคลด้วย นอกจากนี้ ยังเคยมีรายงานที่ดิสเครดิตว่ากล้องไร้ประสิทธิผลอีกด้วย คือที่ติดตั้งไว้ส่วนมากใช้งานไม่ได้ผล อาชญากรรมไม่ได้ลดลงจริง แต่ย้ายไปที่อื่น ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน ก็คือ ย่านธุรกิจ ย่านคนมีเงิน มักจะมีระบบโทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งเฝ้าระวัง แต่ย่านคนจน ย่านสลัม ไม่มี ก็เลยสรุปได้ว่า อาชญากรรมถูกผลักดันจากย่านคนเงินมากไปยังย่านคนเงินน้อย เขาเถียงอย่างนี้ คือ “เขาไม่เชื่อว่าถ้าคุณติดกล้องไว้ทั้งเมืองละก็ โจรจะเลิกประกอบอาชญากรรมแล้วไปหางานทำ ” แปลว่า โจรเลิกอาชีพจริงหรือย้ายที่ทำกิน กันแน่ ? แนวคิดนี้น่าสนใจเหมือนกัน เพราะปรากฏว่าบริษัทประกันยินดีลดเบี้ยประกันภัยให้ร้อยละ 30 ถ้าเจ้าของบ้านยอมลงทุนติดตั้งระบบโทรทัศน์วงจรปิด แปลว่า เจ้าของบ้านจ่ายเงินเพื่อให้โจรไปหากินไกลๆบ้าน ?

ความร่วมมือ

มีข้อมูลสถิติ มากมายชี้ให้เห็นว่า ตั้งกล้องไว้ที่ไหน อาชญากรรมลดลงที่นั่น ไม่มีใครโง่ทำผิดต่อหน้ากล้องให้ถูกบันทึกไว้ สรุปได้ว่า ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเป็นระบบที่ดีที่สุดเพื่อการป้องปราม และตรวจสอบ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
ถ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอาชญากรรม โดยแบ่งเบาภาระบางส่วน คือ แทนที่จะต้องพึ่งพาเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด ก็หันไปใช้ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเป็นเครื่องทุ่นแรง ดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น การเกิดอาชญากรรมจะลดลง หรือเมื่อเกิดแล้วการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดี จะง่ายขึ้น
ถ้าจะจัดระเบียบสังคม ต้องใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือจัดระเบียบ และเครื่องมือนี้เป็นเครื่องมือที่สะอาด ปลอดเชื้อ และทรงประสิทธิภาพ แหลมคม ใช้ผ่าตัดสังคม อย่างได้ผล ถ้าเครื่องมือนี้ ยังสกปรกติดเชื้อ สังคมจะยิ่งเละเทะหนักขึ้นไปอีก
ขออย่าปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นปัญหาสาเหตุสำคัญของปัญหาสังคม (อย่างที่นายยามวิกาลว่าไว้) เลย เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือ จัดระเบียบสังคมให้น่าอยู่ เพราะถ้าขืนปล่อยให้ตำรวจทำอยู่ฝ่ายเดียว ก็จะปล่อยให้อยู่สังคมเดิมๆที่ไร้ระเบียบอย่างนี้แหละ แล้วอย่ามาบ่นให้ได้ยินกัน


***********************

ที่มาข้อมูล
http://www.cctv-information.co.uk
http://www.telegraph.co.uk/
http://www.privacyinternational.org/issues/cctv/cctv_faq.html

No comments: