Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Monday, October 22, 2007

ตำรวจไทยกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

ตำรวจไทยกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์

12 ต.ค. 2550

นับตั้งแต่ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ 2550 ประกาศราชกิจจาฯ เมื่อ 18 มิ.ย. 2550 และให้มีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 30 วัน ก็เกิดความตื่นตระหนกกันอยู่พักหนึ่งเป็นธรรมดา โดยเฉพาะผู้ประกอบการและประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้ เพราะยังไม่รู้ชัดเจนว่าถูกกระทบอะไร ต้องทำอะไรบ้าง ก็ย่อมเกรงกลัวว่าจะได้รับโทษตามกฎหมาย

ภาครัฐก็มีความโกลาหลพอสมควร เพราะต้องสร้างความชัดเจน ในส่วนที่ต้องปฏิบัติเพื่อบังคับใช้กฎหมาย 30 มาตรานี้ ทราบมาว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ตรวจแก้ไขกันหลายรอบ สัก 4-5 ปี กว่าจะผ่านมาเป็นกฎหมายบังคับใช้ เพราะการทำกฏหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็วมีความยุ่งยากมาก

ตั้งศูนย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ตำรวจได้จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเป็น ศูนย์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่ปี 2547 ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า HIGH-TECH CRIME CENTER ขณะนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่เพียง 4-5 คน เพื่อรองรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทางเทคโนโลยี สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายคอมพิวเตอร์ การดำเนินคดีต่างๆจึงอาศัยกฎหมายที่มีอยู่บังคับใช้ ซึ่งมีอุปสรรคในการทำงานพอสมควร เนื่องจากการกระทำหรือละเมิดบางอย่าง กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำผิด

ต่อมา 30 มิ.ย. 2548 ตำรวจจึงได้จัดตั้ง ศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำผิดทางเทคโนโลยี ขึ้น เพื่อให้เป็นกลไกหลักขับเคลื่อนให้ตำรวจที่เป็นหน่วยปฏิบัติสามารถดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสนับสนุนด้านเทคนิค ในการสืบสวน ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน ฯลฯ และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ

แนวโน้มการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์สูงขึ้น

อธิบายอย่างง่าย ๆ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หมายถึงการใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์เทคโนโลยีในการกระทำผิด อุปกรณ์เทคโนโลยีที่ใช้กันมากในประเทศไทยเรา มีอยู่ 2 อย่างคือคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นที่พบบ่อย ได้แก่ไอพอด กล้องวงจรปิด เครื่องบันทึกเสียง กล้องบันทึกภาพวิดิโอ อุปกรณ์รูดบัตรเครดิต ฯลฯ ในอนาคตอาจจะมีอุปกรณ์เทคโนโลยีอื่นอีก ในยุคดิจิตอลนี้ อุปกรณ์เทคโนโลยีส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ระบบดิจิตอล เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ได้แทบทั้งหมด

อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (โดยเฉพาะทางอินเตอร์เน็ต) และทางโทรศัพท์มือถือ มีแนวโน้มที่จะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะความยากในการระบุตัวคนที่ทำผิด อย่างไรก็ดี แม้เราจะไม่รู้ตัว ไม่เห็นหน้าคนร้ายในขณะกระทำผิด แต่ก็ยังใช้เทคนิคการสืบสวนทางคอมพิวเตอร์ พอติดตามคนร้ายได้

ในบทความนี้ จะขอกล่าวเฉพาะอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นหลัก เนื่องจากมีปริมาณมากและกระทบสังคมกว้างขวางกว่า สำหรับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอื่น จะขอยกไปในโอกาสต่อไป

ข่าวสารบนเว็บ

ในบรรดาสื่อทั้งหลาย อินเตอร์เน็ตนับเป็นสื่อสาธารณะใหม่ที่สุด (สื่อโบราณที่สุด คือหนังสือพิมพ์) ข้อมูลข่าวสารบนเว็บนั้นมีทุกอย่าง บางคนเรียกว่าเป็นห้องสมุดโลก

การท่องอินเตอร์เน็ต ก็คือการเข้าไปอ่านข้อมูลข่าวสาร แต่ไม่เหมือนอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ เพราะข่าวสารบนเว็บเป็นข่าวสารที่ไม่มีระบบการตรวจสอบว่าจริงหรือเท็จ ส่วนใหญ่ไม่มี บ.ก.ไม่มีระบุแหล่งข่าว ไม่มีอ้างอิง จึงไม่มีผู้รับผิดชอบในการนำเสนอข่าวสาร แม้จะมีกฎหมายคอยควบคุมเพื่อให้มีผู้รับผิดชอบต่อข่าวสารนั้น แต่ส่วนมากจะไม่ค่อยทันการ เนื่องจากข่าวแพร่กระจายไวเหลือเกิน

เพราะในยุคนี้ข้อมูลข่าวสารมีอำนาจมาก พลังของมันสามารถทำสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยบางอย่างก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมมาก นอกจากนี้เคยมีการตรวจพบว่าขบวนการก่อการร้ายติดต่อสื่อสารกัน เพื่อวางแผนในเหตุการณ์ 9/11 ทางอินเตอร์เน็ต โดยใช้วิธีซ่อนข้อมูลไว้ในแฟ้มภาพ (steganography)

นอกจากเสนอข่าวสารบนเว็บแล้ว ยังมีการเสนอสินค้าและบริการ จึงมีการทำธุรกิจบนเว็บด้วย ธุรกิจต่างๆบนเว็บมีทั้งสีขาว สีดำและสีเทา ปะปนกันอยู่

รู้ทันสื่อ (Media Literacy)

ทุกวันนี้ มนุษย์เราเสพสื่อกันจนสำลักข้อมูลข่าวสารกันแล้ว สำหรับประเทศไทยเรา สื่อก็แข่งขันกันอย่างหนัก ผู้เขียนสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ทำไมสื่อจึงแข่งขันกันเสนอแต่ “ ข่าวร้าย ” มากกว่า “ ข่าวดี ”

อิทธิพลของสื่อนั้นมีมากจริงๆ สื่อจะเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อสังคม ไม่ใช่อยู่ที่คนทำสื่อเท่านั้น คนบริโภคสื่อก็ต้องฉลาดบริโภคด้วย เรื่องการรู้ทันสื่อนี้ต้องสั่งสอนอบรมกันตั้งแต่ยังเด็กๆ คงต้องสอนกันใหม่เลย เพราะคนไทยที่เชื่ออะไรง่ายๆคงลืมหลักกาลามสูตร ของพุทธศาสนากันไปแล้ว

การที่ประชาชนสามารถรู้ทันสื่อได้ แสดงว่าคิดเป็น วิเคราะห์เป็น ฉะนั้นการสอนให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อได้ ย่อมเป็นการส่งเสริมให้มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (freedom of expression) ต่อๆไปการเซ็นเซอร์ข่าวสารก็มีความจำเป็นน้อยลง อีกทั้งการประนาม หรือบอยคอตต์ก็จะลดลงด้วย

คดีหมิ่นประมาทบนเว็บ

ปัจจุบัน คดีหมิ่นประมาทบนเว็บ (internet libel) โดยส่งอีเมล หรือโพสท์ข้อความบนเว็บสาธารณะ มีปริมาณเพิ่มขึ้นมากเป็นอันดับหนึ่ง คิดว่าคงเป็นเพราะการกระทำผิดแบบนี้ทำได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนมาก และได้ผลพอสมควร ผิดกับการหมิ่นประมาทในสมัยก่อน กว่าจะร่างบัตรสนเท่ห์ พิมพ์ดีด ตรวจแก้เอกสาร พับใส่ซอง ติดแสตมป์ จะมีเวลาคิดไตร่ตรองอยู่นานทีเดียว แต่บนเว็บแค่กดปุ่ม ก็ส่งไปในพริบตา แก้ไขหรือถอนไม่ทันแล้ว

เว็บก็กลายเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับระบายความอึดอัดของกลุ่มคนบางกลุ่มที่คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม คนหมิ่นได้ระบาย ถ้าคนถูกหมิ่นรับได้ก็คงไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าจี้จุดสำคัญจนรับไม่ได้ ก็ต้องว่าไปตามกฎหมาย

ความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับ ไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าเป็นหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่า ประกาศด้วยวิธีอื่น( ตามมาตรา 328) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

บ้านเมืองเรายามนี้ แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ไม่ต้องบอกว่ากลุ่มอะไร ลองอ่านข้อมูลที่ถล่มกัน ก็พอจะเข้าใจได้ว่าใส่ร้ายป้ายสีกันจนเลอะเทอะ ถ้าเป็นการปล่อยข่าวลวงให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ก็จะมีความผิดตามมาตรา 14 ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ

สื่อลามกบนเว็บ

ข้อมูลในปี 2004-2005 พบว่า มีภาพลามกแพร่ในอินเตอร์เน็ตราว 420 ล้านภาพ ธุรกิจภาพลามกคิดเป็นเงินราว 12 พันล้านเหรียญ ในจำนวนนี้เป็นสื่อทางอินเตอร์เน็ต อยู่ 2.5 พันล้านเหรียญ ในบรรดาผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมดประมาณพันล้านคน มี 2 ใน 5 คนเคยเข้าเยี่ยมชมเว็บลามก (ผู้เขียนคิดว่าน่าจะมากกว่านี้)

ในโลกนี้ มีหลายประเทศไม่ถือว่าภาพลามกเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ธุรกิจขายความลามกจึงยังไม่เป็นธุรกิจสีดำ แต่เป็นธุรกิจสีเทา หลักเกณฑ์ที่ตัดสินว่าลามกหรือไม่ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี ประเทศส่วนใหญ่แบ่งภาพลามกเป็น 2 แบบคือ
· แบบที่ผิดกฎหมาย (illegal pornography) ได้แก่ภาพที่แสดงความอัปรีย์ต่ำทราม (obscenity) กับภาพละเมิดทางเพศต่อเด็ก (child pornography) และ
· แบบที่ไม่ผิดกฎหมาย (legal pornography) ได้แก่ ภาพโป๊เปลือยต่างๆ หรือภาพที่ลดดีกรีความลามกโดยลบบางส่วนออก

สำหรับประเทศไทยเรา การครอบครองภาพลามกไม่เป็นความผิด แต่การเผยแพร่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 14 (4) และ (5) พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ฉะนั้น เมื่อพบการเผยแพร่ภาพลามกทางอินเตอร์เน็ตมาจากต่างประเทศซึ่งไม่ถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ประเทศเราจึงไม่อาจดำเนินคดีได้ เนื่องจากกฎหมายขัดกัน กระทรวงไอซีทีซึ่งกำกับดูแลจึงทำได้เพียงปิดกั้นเว็บไซต์ฯนั้น แต่หากพบว่าการเผยแพร่ภาพลามกมีต้นตออยู่ในประเทศไทย ก็สามารถจับกุมดำเนินคดีได้
น่าสังเกตว่า เว็บไซต์เผยแพร่เหล่านี้ปิดเปิดง่ายและย้ายบ่อย แต่เดิมโทษค่อนข้างน้อย ซึ่งโทษตาม พรบ.คอมพิวเตอร์สูงกว่า แต่ก็ยังไม่มีการฟ้องคดีในมาตรานี้

ความจริง ตัวสื่อลามกเองไม่ร้าย เท่าผลข้างเคียงที่เกิด ธุรกิจสีเทานี้นอกจากจะทำให้ศีลธรรมในสังคมเสื่อมทรามแล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมทางเพศอื่นๆอีกมากมาย และกระทบต่อเด็กและเยาวชนโดยตรง จึงเป็นเรื่องที่ผู้ปกครองต้องเอาใจใส่ดูแลบุตรหลานของตนให้ใกล้ชิด อย่ามัวแต่หลงภาคภูมิใจว่าบุตรหลานของตนใช้คอมพิวเตอร์เก่ง

ในสังคมออนไลน์นั้น มีคนร้ายปะปนแอบแฝงอยู่ ไม่ว่าจะมาในรูป chatroom , internet messenger (IM) , เกมออนไลน์ หรืออีเมลต่างๆ หากปล่อยให้เด็ก เยาวชน เข้าผจญภัยในโลกอินเตอร์เน็ตเอง อาจถูกหลอกลวง หรือถูกฆาตกรรมดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะพวกตุ๋ยเด็ก (paedophile) นิยมหลอกลวงหาเหยื่อโดยใช้ช่องทางอินเตอร์เน็ตนี่แหละ

คดีฉ้อโกงบนเว็บ

ธุรกิจออนไลน์ก็เช่นเดียวกับการทำธุรกิจทั่วไป แต่เป็นการทำผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันเพราะไม่เห็นหน้าค่าตากัน กรณีที่ซื้อขายโดยตรง มักมีการฉ้อโกงหลอกลวงกันบ้างในขั้นตอนชำระเงิน และการส่งมอบสินค้า ในกรณีซื้อขายข้ามประเทศ ถ้าเกิดการฉ้อโกงกัน การดำเนินคดีจะยุ่งยากมาก ฉะนั้นจึงควรซื้อขายผ่านองค์กรที่น่าเชื่อถือ

การฉ้อโกงที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2549 คือลูกค้าธนาคารออนไลน์หลายราย ถูกหลอกทางอีเมลโดยวิธี phishing หลอกให้เข้าไปป้อนข้อมูลในเว็บไซต์ปลอม ทำให้ข้อมูลส่วนตัวทั้งรหัสผู้ใช้กับรหัสผ่าน ถูกแอบนำไปใช้ ในการทำรายการโอนเงินออกไปหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องระวังการทำรายการทางการเงินต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต ต้องมั่นใจว่าข้อมูลสำคัญทั้งรหัสผู้ใช้ (username) กับรหัสผ่าน (password) ไม่ถูกดักรับจากคนร้าย แม้จะมีคนแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารโทรมาขอตรวจสอบข้อมูล one-time password ก็อย่าหลงเชื่อ เราควรเป็นผู้โทรกลับไปหาธนาคารเอง

ธุรกรรมเกี่ยวกับเงินอื่นๆที่กระทำทางอินเตอร์เน็ต เช่น ซื้อขายหุ้น (e-trading) ก็ควรระวังเพราะอาจถูกดักรับรหัสผู้ใช้กับรหัสผ่านได้ ปีที่แล้วเคยมีคดีฉ้อโกงโบรกเกอร์ในต่างประเทศโดยคนร้ายต่างชาติจากประเทศไทย

การฉ้อโกงอีกแบบหนึ่งที่จะต้องกล่าวถึงเพราะคนไทยเราโดนตุ๋นกันมาก คือ แก๊งไนจีเรีย 419 (419 fraud) ใช้วิธีส่งอีเมลแต่งเรื่องให้เหยื่อหลงอ่านจนเกิดความโลภ เช่นหลอกว่าถูกรางวัล (lottery scam) แล้วหลอกให้เหยื่อโอนเงินค่าธรรมเนียมทีละน้อยๆ ก่อนที่จะรับเงินรางวัลก้อนโต บางทีเรียกว่าการฉ้อโกงแบบ advance fee fraud เรื่องที่แต่งให้เราอ่านมีหลายรูปแบบ อ่านเผินๆแล้วโลภก็จะหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อได้ เช่นได้รับเงินคอรัปชั่นมาต้องการโอนเงินออกนอกประเทศ ได้รับมรดกมาแต่ใกล้ตายแล้วอยากบริจาค เป็นต้น

คดีอื่นๆ บนเว็บ

การกระทำผิดโดยใช้เว็บไซต์มีหลายรูปแบบ การหลอกลวงที่พบ ได้แก่การเปิดเว็บเพื่อให้คนต่างประเทศรับจองโรงแรมในไทย เปิดเว็บการกุศลรับบริจาคเงิน เปิดเว็บให้บริการจัดหาคู่แต่งงาน เป็นต้น พวกนี้จะหลอกให้เหยื่อชำระเงินแต่ไม่มีให้บริการจริงตามนั้น

นอกจากนี้ยังมีการลักลอบขายสินค้าหรือบริการที่ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรม เช่นขายยาเสพติด ยาที่ต้องได้รับอนุญาต ขายอาวุธ วัตถุยั่วยุทางเพศ สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ขายบริการทางเพศ การพนัน ฯลฯ

อาชญากรรมต่อคอมพิวเตอร์

คดีที่กล่าวมาในหัวข้อก่อนนี้เป็นการกระทำผิดคดีอาญาแบบดั้งเดิมซึ่งมีคอมพิวเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในหัวข้อนี้จะเป็นการกระทำผิดต่อคอมพิวเตอร์โดยตรง ซึ่งก่อนประกาศ พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 นั้น การกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวยังไม่เป็นความผิด

ในประเทศไทย ความผิดประเภทเจาะระบบเข้าไปทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลงข้อมูลก่อนที่พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ บังคับใช้ มีอยู่พอสมควร ที่ปรากฏเป็นข่าวดังก็เห็นจะเป็นแฮกเกอร์เจาะระบบบัตรเติมเงินของบริษัทมือถือซึ่งโดนเจาะไป 2 ราย นอกนั้นเป็นข่าวเล็กๆบ้างหรือไม่เป็นข่าวเลย เช่นแอบลบข้อมูล แล้วเรียกค่าไถ่ข้อมูล, แอบขโมยข้อมูลอีเมล, ลักลอบใช้อีเมลของผู้อื่น

โดยปกติ คดีที่เกิดแก่ธนาคารและสถาบันการเงิน ผู้เสียหายมักจะไม่แจ้งความ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ ชื่อเสียงและทำให้ลูกค้าไม่เชื่อมั่น

การขโมยโดเมนเนมก็มีพบอยู่หลายราย สร้างความเสียหายต่อธุรกิจพอสมควร และเมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีโดนแฮกเปลี่ยนหน้าเว็บหลัก (web defacement) หลังประกาศ พรบ.คอมฯ วันเดียว (19 ก.ค.2550) นับว่าท้าทายพอสมควร แต่ความจริงก็ไม่ใช่แปลกอะไร หน้าเว็บตำรวจและเว็บอื่นก็เคยโดนมาแล้วหลายครั้ง

ปกติเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขององค์กรนั้นมักจะมีระบบความปลอดภัยอยู่เพียบพร้อม แต่เหตุใดแฮกเกอร์จึงเจาะเข้าระบบได้ ในคดีที่ผ่านๆมา ข้อผิดพลาดเป็นช่องโหว่สำคัญที่พบ ก็คือ พนักงานเก่าหรือผู้ดูแลระบบคนเก่าที่ได้ลาออกไป และการเปิดช่องทางให้เชื่อมต่อระยะไกลโดยไม่ผ่านระบบความปลอดภัยขององค์กร

ภัยต่อระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรมิได้มีเพียงที่กล่าวมาข้างต้นเท่านั้น แต่ยังมีภัยอื่นๆได้แก่ ไวรัส เวิร์ม สปายแวร์ สแปมเมล์ การโจมตีโดย DoS หรือ DDoS โดย botnet ฯลฯ ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการฝึกอบรมให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เข้าใจและตระหนักถึงความปลอดภัยของขัอมูล (information security awareness) นอกจากนี้ ผู้บริหารระบบไอทีขององค์กรจึงควรศึกษามาตรฐานสากลว่าด้วยความปลอดภัยของระบบไอทีเพื่อกำหนดขั้นตอนความปลอดภัย (security procedure) ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ นอกจากนี้ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการสารสนเทศ จะต้องปฏิบัติตาม มาตรา 26 พรบ.คอมฯ และตามประกาศของกระทรวงไอซีที เช่น การเก็บ log ต่างๆ ด้วย

บทสรุป

แม้อินเตอร์เน็ตจะไม่ได้ทำร้ายบุคคลโดยตรง แต่ผลการใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ไม่ตระหนักถึงภัย ก็อาจนำความเสียหายมาสู่ตนได้ และแม้ว่า พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 จะมีผลบังคับใช้ แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ภัยทางอินเตอร์เน็ตจะลดลง ในทางตรงข้าม เมื่อจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น ปริมาณคดีอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ก็ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย การที่จะลดภัยทางอินเตอร์เน็ตลงได้ จึงต้องให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้อินเตอร์เน็ต

ผู้เขียนสังเกตว่า การประกาศใช้ พรบ.คอมพิวเตอร์ 2550 น่าจะมีผลให้คนที่คิดจะทำผิดต่อคอมพิวเตอร์ มีความระวังมากขึ้นเพราะเกรงกลัวความผิด เนื่องจากมีโทษรุนแรง อย่างไรก็ดี จนกระทั่งบัดนี้ (ขณะเขียนบทความนี้) การฟ้องคดีความผิดตาม พรบ.ใหม่นี้ มีเพียงไม่กี่คดี



@@@@@@@@@@@@@@@@@

No comments: