Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Thursday, October 4, 2007

กรณีศึกษา: ฟิสิกส์ในการก่อการร้าย

ฟิสิกส์ประยุกต์

กรกฎาคม 2547

กรณีศึกษา: ฟิสิกส์ในการก่อการร้าย

เมื่อ 11 ก.ย. 2544 ขบวนการก่อการร้ายได้โจมตีอาคารศูนย์การค้าโลก (World trade center--WTC) ในนครนิวยอร์ก และกระทรวงกลาโหม (Pentagon) ในวอชิงตันดีซี

เพื่อเป็นการฝึกวิเคราะห์ประกอบการศึกษาวิชาฟิสิกส์ประยุกต์ และเป็นประโยชน์ในการฝึกคิดค้นวิธีแก้ไข ป้องกันเหตุร้าย สำหรับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย

1. การเลือกเที่ยวบิน
ผู้ก่อการร้ายเลือกใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบินเป็นอาวุธ เขาเลือกเที่ยวบินระยะไกลซึ่งต้องเป็นเที่ยวบินข้ามทวีป เพื่อให้ได้ปริมาณเชื้อเพลิงมาก ๆ เครื่องบินเหล่านี้มีเชื้อเพลิงถึง 60 ตัน หรือมากกว่านี้ น้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน (คิดแบบกรัมต่อกรัม) จะให้พลังงานมากกว่าระเบิด TNT ถึง 10 เท่า ดังนั้น พลังงานจากเชื้อเพลิงเครื่องบินจะเทียบเท่า TNT 600 ตัน อย่างไรก็ดี เชื้อเพลิงจะไม่สามารถระเบิดได้ ถ้าหากไม่ได้ผสมกับอากาศ




2. การขึ้นเครื่องบิน
การโจมตีครั้งนี้อาศัยความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการ รปภ. ของสนามบินซึ่งก็ไม่ได้ซับซ้อนมากมายนัก เพราะก็เป็นที่รู้กันทั่วไปดีอยู่แล้ว กล่าวคือเมื่อเราขึ้นเครื่องบิน สัมภาระหรือกระเป๋าต่าง ๆ จะถูกเอ็กซเรย์ เจ้าหน้าที่จะมองเห็นรูปร่างของวัตถุต่าง ๆ ภายในสัมภาระหรือกระเป๋าได้ แต่การเฝ้าดูจากจออาจมีวัตถุอันตรายเล็ดลอดผ่านไปได้ เนื่องจากการพราง (Camouflage) ในกรณีนี้ เราสันนิษฐานว่าผู้ก่อการร้ายคงไม่ใช้การพราง เพราะถ้าหากพลาดถูกเจ้าหน้าที่จับกุมได้จะทำให้แผนก่อการร้ายทั้งหมดล้มเหลวได้
ถ้าหากไม่ใช้วิธีพราง ผู้ก่อการร้ายจะต้องใช้ช่องโหว่ของระเบียบ รปภ. ซึ่งอนุญาตให้ผู้โดยสารพกมีดขนาดความยาวใบมีด (Blade) ไม่เกิน 4 นิ้ว ข้อมูลนี้ได้ฟังจากเทปบันทึกเสียงโทรศัพท์ของสายการบินว่า ผู้โดยสารใช้มีดพก (Package knife) มีดพกดังกล่าวเป็นแบบใบมีดสั้นและหดในด้ามมีด มีความคมใกล้เคียงกับใบมีดโกน
ในสหรัฐอเมริกา ตัวผู้โดยสารไม่ได้ถูกเอ็กซเรย์ แต่เดินผ่านเฉพาะเครื่องตรวจโลหะ ซึ่งจะตรวจได้เฉพาะโลหะขนาดใหญ่และตัวนำเท่านั้น เนื่องจากร่างกายคนเราเป็นตัวนำด้วย จึงตั้งเครื่องตรวจโลหะให้มีความไวมากเกินไปไม่ได้ ฉะนั้น จึงมีโอกาสที่โลหะจะเล็ดลอดออกไปได้
นอกจากนี้ อาวุธบางชนิดที่ไม่เป็นตัวนำก็สามารถผ่านเครื่องตรวจโลหะได้ เช่น มีดเซรามิก หรือปืนที่มีส่วนประกอบโลหะเล็กน้อย
หากเป็นกรณีที่เกิดพิรุธหรือสงสัยจริงๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจเห็นวัตถุที่ไม่คุ้นเคยบนจอคอมพิวเตอร์ของเครื่องเอ็กซเรย์ เจ้าหน้าที่อาจจะส่งไปเข้าเครื่องดมกลิ่น (Sniffer) ซึ่งจะเก็บตัวอย่าง (Swab) จากกระเป๋าหรือกล่องต้องสงสัยนำไปตรวจสารระเบิด
ดังนั้น ผู้ก่อการร้ายย่อมรู้ตัวแล้วว่าจะต้องถูกตรวจ จึงไม่ใช้อาวุธหรือวัตถุระเบิดในแผนการณ์นี้


3. การควบคุมเครื่องบิน
เมื่อเครื่องบินขึ้น ผู้ก่อการร้ายจะเข้าควบคุมเครื่องบิน เราไม่ทราบว่าเกิดเหตุอะไรบนเครื่องนอกจากคาดเดาเอาเอง ผู้ก่อการร้ายจะต้องใช้ประโยชน์จากนโยบายของทางการสหรัฐ ที่ว่า “นักบินจะต้องให้ความร่วมมือกับคนร้ายจี้เครื่องบินเพื่อรักษาชีวิตของผู้โดยสารไว้” ทั้งนี้เป็นเพราะในอดีตการร่วมมือและเจรจาประสบความสำเร็จดีมาตลอด
ดังนั้นนักบินจึงจำยอมทำตามคนร้ายแล้วปล่อยให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินเจรจากับคนร้าย ผู้ก่อการร้ายใช้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ความจริงในกรณีนี้ เรายังไม่ค่อยชัดเจนนักว่า นักบินยอมทำตามผู้ก่อการร้ายหรือเปล่า เพราะมีรายงานว่าลูกเรือถูกทำร้ายด้วยมีด อาจจะเป็นเพราะผู้ก่อการร้ายไม่ต้องการให้นักบินส่งสัญญาณลับเตือนภัยไปยังภาคพื้นดินว่าเครื่องบินถูกจี้ ถ้าหากเป็นเช่นนี้ ผู้ก่อการร้ายจะต้องบุกเข้าห้องนักบินแล้วใช้มีดสังหารนักบินทันที
ปกติ หากได้รับการฝึกฝนเพียงพอ ผู้ก่อการร้ายก็สามารถบังคับเครื่องบินได้ การฝึกบินจะมีการสอนวิธีการนำเครื่องลง การนำเครื่องขึ้น การตรวจความปกติขณะบิน และหากไม่ปกติจะต้องแก้ไขอย่างไร
4. การนำร่อง
การนำร่องก็ไม่ยากนัก การขับเครื่องบินขนาดเล็กก็ต้องรู้จักเครื่องมือนำร่อง ผู้ก่อการร้ายอาจใช้อุปกรณ์ GPS อย่างง่ายในการบังคับเครื่องบิน เครื่องมือนี้ราคาไม่เกิน 200 เหรียญสหรัฐ สามารถบอกความเร็ว ทิศทาง และระยะทางถึงเป้าหมาย (ซึ่งป้อนข้อมูลอาคาร WTC ไว้ล่วงหน้าแล้ว)
ผู้ก่อการร้ายอาจจะใช้วิธีมองดูภูมิประเทศก็ได้ (เที่ยวบิน AA 11 อาจบินเลาะแม่น้ำฮัดสัน) กรณีนี้จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อผู้ก่อการร้ายสับสนกับระบบนำร่อง แม้ว่าอุปกรณ์ GPS จะดูง่าย แต่พอเข้าใกล้เป้าหมาย การอ่านค่าจะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาให้ผู้ก่อการร้ายสับสน
ถ้าเราบินผ่านเมืองวอชิงตันดีซี เราจะพบว่าการหาตำแหน่งบนพื้นดินค่อนข้างยาก แม้แต่อนุสาวรีย์วอชิงตัน (Washington Monument) ซึ่งใหญ่โต ก็ยังมองไม่ค่อยเห็นจากบนเครื่องบิน ยิ่งทำเนียบขาว (Whitehouse) ซึ่งมีขนาดเล็กยิ่งดูยาก จึงเป็นไปได้ว่าเที่ยวบิน AA 77 อาจจะมุ่งสู่ทำเนียบขาว แต่หาไม่เจอ จึงเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นอาคารกระทรวงกลาโหมแทนซึ่งเป็นรูปห้าเหลี่ยม เพราะอาคารหลังนี้จะหาง่ายกว่า
5. การพุ่งชน
เมื่อเครื่องบินพุ่งชนอาคาร WTC เครื่องบินจะแตกสลายและเชื้อเพลิง 60 ตันซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในปีกสองข้างจะถูกปล่อยออก เชื้อเพลิงนี้สามารถระเบิดรุนแรงหากผสมกับอากาศ ปรากฎว่ามีเฉพาะบางส่วนที่ระเบิด แต่บางส่วนแค่เผาไหม้
ชิ้นส่วนเครื่องบินส่วนใหญ่ผ่านทะลุอาคารออกไปอีกด้านหนึ่ง เพราะได้ตรวจพบซากเครื่องบินและพาสปอร์ตของผู้ก่อการร้ายคนหนึ่งนอกอาคาร
6. ไฟไหม้และอาคารถล่ม
เสาเหล็กของอาคารห่อหุ้มด้วยฉนวนความร้อนและออกแบบให้ทนไฟเผาไหม้ได้ถึง 2 -3 ชั่วโมง เชื้อเพลิงที่เผาผลาญคือน้ำมันที่เหลือค้างในอาคารและที่ตกค้างอยู่ในถังค่อยๆไหลออกมา
ณ อุณหภูมิสูง เสาเหล็กจะละลาย หากไม่สูงมากเสาก็จะแค่อ่อนตัว เชื้อเพลิงจะทำให้ความร้อนแรงสูงมาก เกินกว่าที่วิศวกรออกแบบไว้ให้ทนได้ เมื่อเสาอ่อนล้าลงมันจะเริ่มโค้งงอ (buckling) เมื่อเสาหนึ่งอ่อนลงน้ำหนักก็จะไปตกลงที่เสาอื่นก็จะงอด้วย พื้นชั้นบนก็จะร่วงลงทับพื้นชั้นล่าง แรงกระแทกจะทำให้เสริมแรงกันจนพื้นชั้นต่าง ๆ ร่วงลงทับกัน ทำให้อาคารทั้งหลังถล่มลงมา
คิดว่าผู้ก่อการร้ายจะล่วงรู้ว่าจะเกิดเหตุการณ์อาคารถล่มนี้หรือไม่ คงจะคาดไม่ถึงเพราะการถล่มของความสูงแบบนี้ยังไม่เคยมีใครคาดคิดกัน เพราะถ้ารู้ว่าเกิดเหตุอย่างนี้คงจะต้องมีการห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ ดับเพลิงถึง 300 คน ทำงานอยู่ในอาคารตอนถล่ม
คงเป็นเพราะไฟไหม้ที่ทำให้อาคารถล่ม ไม่น่าจะเป็นการพุ่งชนหรือการระเบิด
7. เหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่
คิดว่าไม่น่าจะทำได้อีกในอนาคตอันใกล้ เหตุผลก็คือถ้านักบินไม่ให้ความร่วมมือ การโจมตีจะทำได้ยากมาก ถ้านักบินล็อคห้องนักบิน การจี้เครื่องบินจะกลายเป็นเรื่องยากทันที คงจำได้ว่าอาวุธที่ผู้ก่อการร้ายใช้เป็นแค่มีดเท่านั้น ในอดีตแค่มีดก็อาจจะขู่ผู้โดยสารได้และนักบินอาจจะยอม แต่ในอนาคตไม่มีนักบินคนไหนยอมให้ผู้ก่อการร้ายจี้เครื่องบินเข้าบังคับเครื่องเด็ดขาด
การทำให้ห้องนักบินแข็งแรง ให้นักบินพกอาวุธ และ ฝึกอาวุธด้วย และเพิ่มเจ้าหน้าที่ รปภ. บนเครื่องอีกหนึ่งคนพร้อมอาวุธ อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้หรืออาจจะไม่แก้ก็ได้ เพราะถ้าเจ้าหน้าที่เพลี่ยงพล้ำเสียทีคนร้าย ก็จะกลายเป็นการเอาอาวุธไปให้คนร้ายใช้
สังเกตว่าผู้ก่อการร้ายไม่เอาปืนหรือระเบิดขึ้นเครื่องบิน เพราะไม่แน่ใจว่าจะลักลอบนำขึ้นได้ เขาจึงแอบเอาอาวุธที่นำขึ้นเครื่องได้ง่าย
8. จะทำอย่างไรในอนาคต
คำถามนี้เพื่อให้เราได้เตรียมการป้องกันมิให้เกิดความหายนะแก่สหรัฐซ้ำอีก แน่นอนเหตุก่อการร้ายครั้งต่อ ๆ ไป จะต้องใช้ความแยบยลกว่านี้ อาจต้องเกี่ยวข้องกับอาวุธร้ายแรงอื่น ๆ เช่น เชื้อโรคก็ได้
แต่สิ่งที่สหรัฐยังกังวลอยู่ก็คือการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ เพราะมีรายงานข่าวอ้างว่า องค์การของโอซามาบินลาเด็น ได้พยายามจัดซื้อส่วนประกอบในการทำอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่รู้กันแล้วว่าเขาจะต้องทำอย่างนี้ อาวุธนิวเคลียร์อาจจะมีขนาดเล็กและสร้างความเสียหายในระดับที่ผู้ก่อการร้ายอยากจะทำ อาวุธเหล่านี้สามารถลักลอบนำเข้ามาโดยเรือเล็ก และยิงใส่ท่าเรือได้ง่ายมาก
หรืออาจจะไม่ใช่การจี้เครื่องบินแต่เป็นการทำลายเครื่องบิน เช่น ฝากส่งสินค้าโดยซุกระเบิดในกล่องสินค้าไปกับเครื่องบิน ซึ่งเมื่อเครื่องบินบินไปถึงระดับหนึ่งจะระเบิด ฉะนั้นในอนาคตสหรัฐอาจจะห้ามการบรรทุกสินค้าบนเครื่องบินโดยสาร หากมีการระเบิดขึ้นก็จะไม่มีผู้โดยสารได้รับอันตราย
สมมุติว่า ผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อะไรจะเกิดขึ้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนใหญ่จะออกแบบให้สามารถรับการชนของเครื่องบิน กำแพงคอนกรีตรอบนอกจะรับแรงกระแทกและ เตาปฏิกรณ์ปรมาณูภายในจะไม่ได้รับความเสียหาย กัมมันตรังสีก็จะไม่รั่วออกมา
สรุป
การโจมตีครั้งนี้ทำได้ง่าย ๆ ต้องการเพียงจังหวะเวลาและการส่งกำลังบำรุงที่ดี ผู้ก่อการร้ายไม่ต้องจัดหาวัตถุระเบิด ไม่ใช้คนมากมายทำงานประสานกัน สิ่งที่สำคัญก็คือ นำคนร้ายขึ้นเครื่องตรงเวลา ซึ่งมีโอกาสพลาดน้อยมาก

****************





อ้างอิง
Muller.lbl.gov/teaching/Physics10/chapters/3-The-terrorist_attack.htm
911research.wtc.net/sept11/attack.html

No comments: