กรกฎาคม 2547
1. คลื่นการเปลี่ยนแปลงสังคมโลก
นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน กระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง รวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงสามศตวรรษที่ผ่านมา จากสังคมเกษตรเข้าสู่อุตสาหกรรม และเข้าสู่เทคโนโลยีข่าวสารข้อมูลในปัจจุบัน
1. ยุคเกษตรกรรม สภาพเศรษฐกิจและสังคมเป็นสังคมแบบดั้งเดิม การผลิตด้าน การเกษตร เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ พึ่งพาธรรมชาติ สังคมเรียบง่ายไม่ซับซ้อนเป็นยุคอดีตจนก่อนการปฎิวัติอุตสาหกรรม
2. ยุคอุตสาหกรรมมีการนำเครื่องจักรไอน้ำมาพัฒนาไปสุ่เครื่องจักรกล มาใช้ เป็นพลังการผลิตแทนแรงงานคน และสัตว์ ก่อให้พลังการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) สภาพสังคมเปลี่ยนไปสู่ การตลาดและการบริโภคนิยม ก้าวเข้าสู่ความทันสมัย สภาพสังคมซับซ้อน หลากกหลายมากขึ้น เป็นยุคสามทศวรรษก่อนปัจจุบัน
3. ยุคเทคโนโลยีข่าวสารข้อมูล มีการนำระบบคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงระบบโทรศัพท์ โทรสารติดต่อทั่วโลก เป็นยุคโลกไร้พรมแดนการติดต่อสื่อสารรวดเร็วเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย จนคนในสังคมปรับตัวไม่ทันกกับคลื่นการเปลี่ยนแปลงสังคมโลก (Future Shock) เป็นยุคศตวรรษที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน
4. ยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) เป็นยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคมอย่างรวดเร็ว ด้วยพลังแห่งเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ซึ่งส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์
- โลกไร้พรมแดน
- เศรษฐกิจเสรี
- ธุรกิจข้ามชาติ
- หมู่บ้านโลก
ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขององค์กรจากองค์กรขนาดใหญ่เป็นองค์กรขนาดเล็ก ลดขั้นตอนการทำงานลดเอกสารที่ใช้ ลดจำนวนบุคลากร มีการแข่งขันขององค์กร เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า
วิวัฒนาการทางการบริหาร
การบริหารงานขององค์กรในอดีตจนถึงปัจจุบันมีการปรับ เปลี่ยนหลักทฤษฎีการบริหารมาตามลำดับ ดังนี้
1. ยุคก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทฤษฎีทางการบริหารที่นำมาใช้ คือ ทฤษฎี Adam Smith จัดแบ่งโครงสร้างหน้าที่การแบ่งงานกันทำและปรัชญา Big is Beautiful มีองค์กรและการผลิตขนาดใหญ่ ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดตลาดสินค้าและบริการ
2. ยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทฤษฎีทางการบริหารที่นำมาใช้ คือ ทฤษฎี Kai Zen Demming Philosophy QC Circle ปรัชญาทางการบริหารมุ่งสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ ตลอดจนการ ตรวจสอบทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อนำไปสู่การแก้ไขข้อบกพร่องในการทำงาน
3. ยุคหลังปี คศ. 1980 ทฤษฎีการบริหารงานที่นำมาใช้ คือ Total Quality Management ISO 9000 Business Process Reengineering ปรัชญาการทำงานมุ่งไปสู่การสร้างสรรค์ประสิทธิภาพการทำงานทุกขั้นตอน การควบคุมคุณภาพ สินค้าและบริการตามมาตรฐานที่กำหนด การผลิตที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรื้อปรับระบบการทำงานใหม่ของระบบธุรกิจ เอกชน
แนวคิดการรื้อปรับระบบ(Reengineering)
เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน ใหม่ ที่ไม่สนใจการทำงานแบบเดิมที่ผ่านมา เพื่อมุ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดผลงานเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า เพื่อเพิ่ม ผลผลิตลดเวลา ลดขั้นตอน ลดเอกสาร และลดค่าใช้จ่ายในการทำงาน ซึ่งระบบธุรกิจเอกชนนำมาใช้ปรับปรุงองค์กรในช่วง ทศวรรษที่ผ่านมาและเริ่มต้นนำมาใช้ในระบบราชการ
ขั้นตอนการรื้อปรับระบบ
1. การคิดค้นทบทวนใหม่ (Rethink)
2. การออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ (Redesign)
3. การเสริมเทคโนโลยี (Retool)
4. การฝึกอบรมบุคลากร (Retrain)
การนำแนวคิดการรื้อปรับระบบมาใช้ในระบบราชการเพื่อมุ่งปรับเปลี่ยนทันคติผู้ปฎิบัติงานใหม่ ปรับลดขั้นตอนการ ทำงานลงเสริมการทำงานและปรับสภาพภูมิทัศน์ให้สวยงาม สะดวกในการทำงานซึ่งเป็นมิติใหม่ของการทำงานการให้ บริการของหน่วยราชการ
ตัวอย่าง
(ก) การให้บริการฝากถอนเงินของธนาคาร (แบบเดิม)
· การฝากถอนเงินผ่านขั้นตอนหลายขั้นตอน
· มีพนักงานหลายคน แบ่งหน้าที่ ฝาก ถอน ตรวจสอบ อนุมัติ ผ่านพนักงานหลายคน
· ใช้เวลานานในการฝากถอน
· ระบบการตรวจสอบด้วยเอกสาร
(ข) การให้บริการฝากถอนเงินของธนาคาร (แบบใหม่)
· การฝากถอนเงินมีขั้นตอนลดลง
· มีพนักงานคนเดียวทำหลายหน้าที่ ฝาก ถอน ตรวจสอบ อนุมัติด้วยพนักงานคนเดียวกัน ใช้เวลาลดลง
· มีการมอบอำนาจ พัฒนาบุคลากร
· มีระบบการตรวจสอบด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ความแตกต่างระหว่างแนวคิด Reengineering กับ Automation
Reengineering เป็นการคิดค้นกระบวนการทำงานใหม่ทั้งระบบองค์การและนำระบบคอมพิวเตอร์มาปรับใช้กับกระบวนการทำงานใหม่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ประสิทธิภาพสูง หน่วยงานราชการส่วนใหญ่ มักจะเป็นการนำแนวคิด Automation โดยนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับกระบวนการ ทำงานเดิม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การทำงานรวดเร็วมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. การบริหารงานภายใต้การเปลี่ยนแปลง(Management Of Change)
วิสัยทัศน์ (Vision)
การบริหารงานในอนาคตจำเป็นต้องกำหนดทิศทางขององค์กร ในอนาคต โดยพิจารณาจากสภาพที่เป็นจริง สถานการณ์ลูกค้า เพื่อมุ่งถึงเป้าหมายในอนาคต วิสัยทัศน์ ประกอบด้วย
- เป้าหมายในอนาคต
- สภาพที่เป็นจริง
- ลูกค้า ผู้รับบริการ
- สถานการณ์ สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันลูกค้าเป็นผู้กำหนดชะตากรรมขององค์การการผลิตสินค้า และบริการเปลี่ยนจากการผลิตจำนวนมาก เป็นการผลิตตามความต้องการลูกค้า ผู้บริโภค ลูกค้าจึงมีความสำคัญต่อการอยู่รอดขององค์การ การบริหารงานยุคใหม่ จึงมุ่ง สนองตอบต่อลูกค้าเป็นสำคัญ ( Customer Oriented )
พันธกิจ (Mission)
เป็นภารกิจหรือแนวทางนำไปสู่วิสัยทัศน์ เป็นกิจกรรมหลักที่ทำให้ วิสัยทัศน์บรรลุผล องค์ประกอบของพันธกิจ
- ทำอะไร (What) เป้าหมายคืออะไร
- ใครเป็นคนทำ (Who) ผู้รับผิดชอบคือใคร
- ทำอย่างไร (How) ให้บรรลุวัตถุประสงค์
ดังนั้น พันธกิจอาจกำหนดไว้หลานด้าน เพื่อตอบสนองต่อวิสัยทัศน์ (เป้าหมายหลัก) ที่กำหนดไว้
- ผลสัมฤทธิ์ ( Result) การประเมินผลการทำงานจะประเมินผลสัมฤทธิ์ โดยประเมินทั้งผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome)
- ผลผลิต (Output) เป็นผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากโครงการ เป็นผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการผลิตสินค้าและบริการ
- ผลลัพธ์ (Outcome) เป็นผลกระทบของโครงการ อาจเป็นผลด้านนามธรรมและส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการโดยตรง
ตัวอย่าง
โครงการสร้างภาชนะเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ ผลผลิตได้แก่ ภาชนะ หรือ อ่างเก็บน้ำ ผลลัพธ์ต้องดูว่าประชาชนใช้ ภาชนะเก็บน้ำหรือไม่ ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำหรือไม่ คุณภาพของน้ำเป็นอย่างไร สาเหตุที่ประชาชนไม่นิยมบริโภคน้ำฝนขากภาชนะ เก็บน้ำ หรือไม่ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นการพิจารณาผลลัพธ์ ดังนั้น การบริหารงานภายใต้การเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการ วิธีการที่ทำให้ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดและประเมินผลการดำเนินการที่ผ่านมาว่าบรรลุผลตามเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งได้แก่การกำหนด วิสัยทัศน์พันธกิจ และผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน ซึ่งจะทำงานไปวันๆ ไร้จุดหมายทิศทาง ดังเช่นอดีตที่ผ่านมาอีกไม่ได้
3. การปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานใหม่(Paradigm Shift)
การปรับกระบวนทัศน์ในการทำงานใหม่ เป็นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ วิธีคิด วิธีทำงานของคน และหน่วยงานใหม่ เพื่อสร้างสรรค์บรรยายกาศการทำงานมุ่งสู่ผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน
1. การปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปฎิบัติงาน ให้มีความเต็มใจในการให้บริการด้วยอัธยาศัยไมตรี มองผู้มาติดต่อ เป็นลูกค้า ที่ต้องให้บริการด้วยความสะดวกรวดเร็ว ปรับทัศนคติการทำงานที่ปกป้องตนเอง มาเป็นการทำงานเพื่อมุ่งผลสำเร็จ ของงาน
2. การปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงานใหม่ ของผู้ปฎิบัติงาน จะเป็นการสร้างสรรค์การทำงานให้ผู้ปฎิบัติงานสามารถ ทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว มีความภูมิใจต่องานที่รับผิดชอบ ตลอดจนลูกค้าหรือประชาชนที่มาคิดต่อเกิดความพอใจ ประทับใจ ในการให้บริการ ควรปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการทำงานใหม่ ดังนี้
ก. มองประชาชนผู้มาขอรับบริการ หรือผู้มาติดต่อราชการ เป็นลูกค้า
ข. เปลี่ยนการทำงานที่ยึดเบียบปฎิบัติกฎเกณฑ์เคร่งครัดมาเป็นการทำงานที่ยืดหยุ่นมุ่งผลสำเร็จของงาน
ค. ปรับลดขั้นตอนการทำงานที่ซ้ำซ้อน ใช้เอกสารใช้เวลามาก ให้มีขั้นตอนน้อยลง ใช้เอกสารและเวลาน้อยลงเท่าที่ไม่ขัดต่อระเบียบ
ง. การมอบอำนาจในการทำงาน (Delegation) การมอบอำนาจในการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่หรือพนักงาน ผู้ปฎิบัติงาน จะเป็นผลให้
· เพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน
· ตอบสนองลูกค้าได้รวดเร็ว
· ลดข้อจำกัดการทำงาน
· เพิ่มผลผลิตมากขึ้น
· การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
· เพิ่มขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฎิบัติงาน
จ. การจัดสำนักงาน จัดสภาพภูมิทัศน์ เป็นแนวคิดการจัดสภานที่ทำงาน และสภาพแวดล้อม ของสถานที่ทำงานให้เอื้ออำนวยต่อการทำงานแนวความคิดในการจัดสำนักงาน และจัดสภาพภูมิทัศน์สมัยใหม่ ประกอบด้วย
· สำนักงานไร้กระดาษ ลดการใช้เอกสาร มีระบบการจัดเก็บเอกสารที่ทันสมัย
· สถานที่ทำงาน สะอาด สวยงาม มีบรรยากาศเอื้ออำนวยต่อการทำงาน
· สร้างทีมงาน (Process Team) จัดสถานที่ทำงานเอื้ออำนวยต่อการทำงานเป็นทีม จัดโต๊ะทำงานหันหน้า เข้าหากันเป็นลักษณะการทำงานปรึกษาหารือสถานที่ประชุมสัมมนา
· จัดระบบสำนักงานอัตโนมัติ (Automation Work Flow) นำระบบสำนักงานอัตโนมัติมาใช้ มีระบบโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ มาใช้ในการทำงาน เพื่อให้ทำงานได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
4. การบริหารงานตำรวจยุคใหม่
การเปลี่ยนแปลงบทบาทองค์กร การบริหารงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงองค์กรจำเป็นต้องปรับบทบาทให้สอดคล้องกับ การเปลี่ยนแปลง ดังนี้
ก. การแบ่งงานตามหน้าที่ (Function) เปลี่ยนไปสู่การทำงานหลายด้าน(Multi-Function) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ให้แก่ผู้ปฎิบัติงานสามารถทำงานได้หลายหน้าที่
ข. การถูกควบคุม (Control) เปลี่ยนไปสู่การเพิ่มอำนาจ การบริหารงานเปลี่ยนจากเน้นการควบคุมเป็นการให้อิสระในการทำงาน แก่ผู้ปฎิบัติงานมีการตรวจสอบควบคุมน้อยลง
ค. การบริหารงานภายใต้การเปลี่ยนแปลง เป็นการปรับเปลี่ยนการบริหาร หรือทำงานแบบเดิม ไปสู่การบริหารงาแบบใหม่ โดย การปรับเปลี่ยนสู่การบริหารงานยุคใหม่ ประกอบด้วยเงื่อนไข ดังนี้
· สร้างกระบวนการทำงานใหม่
· นำเทคโนโลยีมาใช้
· สร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่
· วิเคราะห์ลูกค้าและสถานการณ์
· มอบอำนาจการตัดสินใจ
ขั้นตอนการดำเนินการสู่การบริหารงานยุคใหม่ นอกจากการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ยังมีขั้นตอนการดำเนินการสู่การบริหารยุคใหม่ ประกอบด้วย
· สร้างวิสัยทัศน์การบริหารงาน (VISION) กำหนดเป้าหมายในการบริหารงาน การทำงาน
· กำหนดพันธกิจ (MISSION) กำหนดแนวทาง ภารหน้าที่ เพื่อบรรลุผลตามเป้าหมาย
· กำหนดผลลัพธ์ (OUTCOME) พิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการบริหารงาน การทำงาน
· สร้างตัวชี้วัด (INDICATOR) เพื่อวัดผลที่เกิดขึ้นตอบสนองต่อเป้าหมายเพียงใด ตัวชี้วัดควรวัดในเชิงรูปธรรมได้
· วัดผลสัมฤทธิ์ เป็นการตรวจสอบผลผลิตและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงทบทวน ขั้นตอนการดำเนินการ ทำงานของนักบริหารยุคใหม่
การทบทวนบทบาทภารกิจของผู้บริหาร เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของนักบริหาร ด้วยการตอบคำถาม ดังนี้
- วันๆ แค่รับโทรศัพท์กับเซ็นหนังสือก็หมดวันแล้ว
- ต้องนำงานกลับไปเซ็นที่บ้าน
- เจอหน้าใคร ก็บ่นว่าทำงานยุ่งตลอดวัน
- ควบคุมงานอย่างเข้มแข็งด้วยตนเอง
ถ้าการทำงานของท่าน เป็นไปตามคำถามที่ตั้งไว้ มากเท่าข้อใด แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพการทำงานของท่าน อยู่ในเกณฑ์ที่ควรต้องปรับปรุงโดยเร่งด่วน
4. การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อมุ่งสู่การบริการประชาชน
ขั้นตอนสำคัญของการรื้อปรับระบบ
การปรับเปลี่ยนแนวความคิดของคนในหน่วยงานราชการ (Rethinking) จากกระบวนทัศน์เก่า เช่น ความเป็นเจ้าขุนมูลนาย หรือล่าช้าไปเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ดีกว่า เพื่อให้การปฎิบัติงาน หรือพฤติกรรมการให้บริการสอดคล้องกับเป้าหมายของหน่วยงาน เช่น มองประชาชนคือลูกค้าหรือทำงานอย่างรวดเร็ว นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการรื้อปรับระบบ การออกแบบกระบวนการ ทำงานใหม่ของหน่วยงานจะดีเลิศวิเศษเพียงใดหากคนในหน่วยงานยังมีกระบวนทัศน์เก่าๆ กระบวนการทำงานที่ออกแบบใหม่ก็ย่อม ล้มเหลว แต่ถ้าคนในหน่วยงานมีกระบวนทัศน์ใหม่ที่สอดคล้องกับการทำงานแล้ว ย่อมทำให้กระบวนการทำงานประสบความสำเร็จ
ความหมายของกระบวนทัศน์และการปรับเปลี่ยน
กระบวนทัศน์ มาจากภาษาอังกฤษว่า "Paradigm" (พาราไดม์ ) คือแนวทางหรือวิธีการทำงานที่ยึดกันมา โดยเชื่อว่า หากทำแล้วจะทำให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งหากความเชื่อนี้เปลี่ยนไป ก็จะทำให้วิธีการหรือวัฒนธรรมการทำงานเปลี่ยนแปลง ไปด้วยดังนั้น กระบวนทัศน์จึงเป็นวงล้อม หรือกรอบการทำงานของเรา การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ จึงเป็นการแหกวงล้อม หรือเปลี่ยนกรอบการทำงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่ เปลี่ยนแปลงไปและตรงกับความต้องการของประชาชนซึ่งเป็นลูกค้าคนสำคัญของหน่วยงานราชการ
วิวัฒนาการของกระบวนทัศน์หน่วยงานราชการ
หน่วยงานราชการไทยไม่ได้หยุดนิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อภารกิจหน้าที่ที่สังคมกำหนดให้ดำเนินการไปได้ อย่างราบรื่นนับตั้งแต่ระบบราชการไทยก่อตั้งขึ้นมาในสมัยสุโขทัย กระบวนทัศน์ได้มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดและมีการ ตกทอดสั่งสมกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจแบ่งกระบวนทัศน์หลักของหน่วยงานราชการได้ 4 ช่วง คือ
1. กระบวนทัศน์เจ้ากับไพร่
นับตั้งแต่ประเทศไทยได้ตั้งตัวและสร้างรัฐ ( State ) ขึ้นมาได้ครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.1800 ในสมัยสุโขทัย ข้าราชการคือข้าราชบริพารของพ่อขุนผู้ปกครองประเทศทำหน้าที่ในการรักษาความสงบ เก็บภาษีและเกณฑ์ไพร่ฟ้าประชาชน ไปทำการรบเมื่อเกิดศึกสงคราม ดังนั้นข้าราชการจึงมีอำนาจในการบังคับบัญชาประชาชนมากบ้างน้อยบ้างตามตำแหน่งที่เป็นอยู่ โดยระบบศักดินา ใครมีมากก็จะมีอำนาจมาก ใครมีศักดินาน้อยก็จะมีอำนาจน้อยลดหลั่นลงไปประชาชนทั่วไปจะต้องเป็นไพร่ มีสังกัดมูลนาย หรือทาสที่มีเจ้านาย ไม่เช่นนั้นจะถูกลงโทษตามกบิลเมือง ประชาชนในยุคนี้จึงมองดูข้าราชการคือผู้รับมอบ อำนาจสิทธิ์ขาดจากผู้ปกครองที่จะลงโทษอะไรกับตนก็ได้ ส่วนราชการก็ถือว่าตนเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญเหนือกว่าประชาชน ทั่วไป ความสัมพันธ์จึงเสมือน " เจ้ากับไพร่ " ส่วนภาคเอกชนยังไม่ปรากฎชัดเจนเป็นหน้าที่ของรัฐในการค้าขาย
2. กระบวนทัศน์ผู้พิทักษ์
เมื่อประเทศไทยได้พัฒนาเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ พระมหากษัตริย์ ซึ่งเดิมถือว่าเป็นองค์อธิปัตย์ที่พระบรมราชโองการคือกฎหมาย ไม่สามารถปกครองประเทศได้อย่างทั่วถึง ต้องมีข้าราชการบริพาร ต่างพระเนตรพระกรรณมากขึ้น จะต้องแบ่งซอยหน้าที่ความรับผิดชอบออกเป็นฝ่ายต่าง ๆ และเพิ่มมากขึ้น ประจวบกับลัทธิล่า อาณาณิคมโดยประเทศมหาอำนาจที่สามารถปรับระบบราชการแบบแบ่งหน้าที่ให้มากขึ้น จนระบบราชการกลายเป็นสถาบันที่ก่อความ เจริญให้แก่ประเทศอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในแถบตะวันตก เช่น ประเทศฝรั่งเศส หรืออังกฤษ เป็นต้น ดังนั้น ประเทศไทยเพื่อความอยู่รอดและสามารถยึดโยงสถาบันทางสังคมที่คล้ายคลึงกับประเทศมหาอำนาจ เพื่อช่วยค้ำจุนให้สังคมเข้มแข็ง ขึ้นจากที่เคยเป็นสภาพชุมชนเมือง อยู่กระจัดกระจายมีความสัมพันธ์กับเมืองหลวง แค่ส่งบรรณาการไพร่พลเข้าช่วย เมื่อเกิดสงคราม ก็เกิดเป็นความสัมพันธ์กันทางกฎหมาย ส่วนกลางส่งข้าราชการที่มีความรู้ปกครองประเทศมีอำนาจออกกฎระเบียบให้สอดคล้องกับรัฐ ใช้กฎหมายและตีความกฎหมายประชาชนในยุคนี้จะมีความเชื่อมั่นว่าข้าราชการคือ ผู้มีอำนาจตามกฎหมายการกระทำผิดต่อข้าราชการ อาจได้รับโทษทัณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้าราชการก็ถือว่าเป็นบุคลากรของประเทศที่มีความรู้ความชำนาญทางกฎหมายสามารถ เอาผิดกับประชาชนได้ถ้าให้เสียการปกครอง และผิดระเบียบที่วางไว้ในยุคนี้จึงเป็นยุคกระบวนทัศน์แบบผู้พิทักษ์ที่มีผู้ปกครองกับ ผู้ใต้ปกครอง โดยอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายมากยิ่งขึ้น ภาคเอกชนเริ่มปรากฏตัวในวงแคบๆภายใต้การควบคุมของรัฐโดยเฉพาะ การค้าข้าว
3. กระบวนทัศน์ผู้ชี้นำการพัฒนา
ในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา สหประชาชาติได้ส่งเสริมการ พัฒนาประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีธนาคารโลกเป็นองค์กรสนับสนุน ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เข้าร่วม กระบวนการพัฒนาประเทศที่ทันสมัย ในปี 2504 ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกเพื่อเป็นกรอบการพัฒนาด้านเศรษกิจ ของประเทศ โดยทั้งนี้ ระบบราชการได้เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะระบบราชการ มีทั้งบุคลากรที่มีคุณภาพ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมจนอาจกล่าวได้ว่าพร้อมกว่าองค์กรใดๆ ในสังคมแม้แต่ภาคธุรกิจเอกชนจะต้อง อิงบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการรณรงค์เพื่อการพัฒนาประเทศได้ทำให้รายได้ของประเทศ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8 -10 ซึ่งถือว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แม้แต่ประเทศที่พัฒนาแล้ว เพิ่มขึ้นถึงเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น อย่างไรก็ตามกระบวนทัศน์ของข้าราชการจะเกิดการผสมผสานระหว่างผู้ปกครอง และยุคของผู้ใต้ ปกครองกับกระบวนทัศน์ ถือว่าตนคือผู้นำการพัฒนาแต่เพียงสถาบันเดียวในสังคมก็ยังทำงานใต้กรอบดังกล่าวโดยถือว่ากฎหมาย ได้ระบุหน้าที่อะไรในหน่วยงานทำก็ทำงานหน้าที่นั้น ไม่ได้คำนึงถึงการผนึกกำลังตัวใครตัวมัน หรือบางทีเป็นปฎิปักษ์ต่อกันระหว่าง ผู้ที่ทำงานอยู่ในเรื่องเดียวกัน เกิดงานซ้ำซ้อน ผลก็คือบางครั้งโครงการสำคัญไม่ประสบความสำเร็จและปัญหาเพิ่มความสลับซ้ำซ้อน ยากต่อการแก้ไขมากขึ้น โดยได้มีผู้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่าประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควรทั้งๆ ที่โครงการต่างๆ อย่างดีมีข้าราชการที่มีความเชี่ยวชาญ ( Expert ) เข้าไปดูปัญหา ศึกษาความเป็นไป เสนอโครงการจัดทำแผนดำเนินการ ฯลฯ อย่างละเอียดและเป็นระบบ ครั้นพอดำเนินการตามโครงการไปแล้วมาประเมินดู ก็มักจะพบโครงการประสบผลตามแผนแต่ประชาชน กลับได้รับผลประโยชน์น้อยทั้งนี้เกิดจากข้าราชการที่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเข้าไปดูปัญหาแล้ว เป็นผู้บอกวิธีแก้ปัญหาและทำการแก้ไข ปัญหาเองโดยประชาชนไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม จึงทำให้การพัฒนาไม่สำเร็จจากกระบวนทัศน์ในยุคนี้ทำให้ข้าราชการกับประชาชนเกิด ความขัดแย้งทางด้านความคิดปฎิบัติ เพราะข้าราชการจะมองประชาชนว่าเปลี่ยนแปลงยาก ในขณะที่มองข้าราชการว่าเสนอแนะวิชาการ ซึ่งทำได้ยากในทางปฎิบัติ ส่วนภาคเอกชนได้รับผลพวงจากการพัฒนาเต็มที่ และกลายเป็นอีกภาคหนึ่งที่มีพลังทางสังคม
4. กระบวนทัศน์ยุคใหม่
การพัฒนาประเทศซึ่งข้าราชการยังเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) จะต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมเข้ามีส่วนร่วมในการพัฒนาและการบริหาร เพราะการเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นการเปลี่ยนแปลง หลายด้านภาคราชการอย่างเดียวจะไม่เพียงพอที่จะนำในการพัฒนาประเทศได้สำเร็จ ทั้งนี้เนื่องจากการพัฒนาในปัจจุบันเป็นเรื่อง ที่ละเอียดอ่อนสลับซับซ้อนจึงจำเป็นจะต้องพัฒนาโดยอาศัยการผนึกกำลังจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายข้าราชการเอง องค์กร พัฒนาเอกชน ธุรกิจ ฯลฯ ดังนั้นข้าราชการในยุคปัจจุบันจึงต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่ที่ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายเข้าทำงานร่วมกัน ใช้ความ พยายามร่วมกันและไม่เป็นปฎิปักษ์ต่อกันโดยการปฎิบัติอย่างจริงจัง (Interactive Learning Through Action) ในขณะเดียวกัน หน่วยราชการจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดและทัศนคติในการทำงานให้มีความรวดเร็ว มีคุณภาพทันสมัย และสร้างความพึงพอใจ ให้เกิดกับประชาชน ตลอดจนความรวดเร็ว มีคุณภาพทันสมัย และสร้างความพึงพอใจให้เกิดกับประชาชนตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีความแข็งแกร่ง สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
กระบวนทัศน์เก่าที่ต้องเปลี่ยนแปลง
การให้บริการหรือบริหารงานของหน่วยราชการมี ทั้งที่ยึดติดอยู่กับกระบวนทัศน์เก่า ตกทอดมาจากอดีต โดยไม่สร้าง กระแสคลื่นใหม่ใดๆ ให้สะเทือนสถานภาพเดิม พยายามเลี่ยงความผิด โดยยึดระเบียบกฎหมายเป็นที่ตั้ง ไม่แกว่งเท้าหาเสี้ยนหรือ อย่าให้ปัญหามาหยุดบนที่โต๊ะปัดไปให้คนอื่นให้เร็วที่สุดซึ่งขัดกับสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน
กระบวนทัศน์เก่า ๆ ของหน่วยงานราชการที่สำคัญ คือ
1. เจ้าขุนมูลนาย
มองประชาชนคือผู้อยู่ใต้ปกครองซึ่งเป็นกระบวนทัศน์ ที่ตกทอดมาแต่โบราณ ทำให้นำไปสู่การมองว่าการให้บริการประชาชน คือสิ่งที่ข้าราชการบริจาคให้
2. การดำเนินงานล่าช้า
มีขั้นตอนมากมาย เพื่อป้องกันการทุจริต จึงต้องมีขั้นตอน ของการตรวจสอบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
3. มุ่งรักษาสถานภาพ
มองว่างานใดหากยังไม่มีปัญหาก็ปล่อยไปก่อน อย่าไป เปลี่ยนแปลงจะต้องกระทบกับคนอื่นหรืองานอื่นที่ไม่จำเป็น ก่อให้เกิดความคิดที่ไม่อยากสร้างสรรค์ใหม่ๆ
4. ยึดกฎระเบียบตายตัว
การปฎิบัติงานจะต้องยึดระเบียบกฎหมายตายตัวและในบางครั้ง สร้างกฎเกณฑ์เพิ่มขึ้นจากที่เคยมีอยู่เพื่อเป็นเกราะป้องกันตัวทำให้การทำงานไม่ยืดหยุ่น
5. แบ่งงานกันทำชัดเจนเกินไป
การแบ่งงานกันทำอย่างชัดเจน ทำให้แต่ละคนมุ่งทำงานที่ รับผิดชอบจนเกินไปไม่สามารถเวียนรอบข้างได้ทำให้งานบางงานมีคนว่างงาน ในขณะที่บางงานมีคนมากเกินไป
6. สายการบังคับบัญชา (Hierachy)
หน่วยราชการยังมีขั้นตอนการปฏิบัติงานยาว เนื่องจาก เป็นระบบรวมอำนาจขั้นตอนจากหน่วยปฏิบัติถึงหน่วยนโยบายจึงยาวมาก
7. เน้นการควบคุม
การทำงานมีการควบคุมอย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน เนื่องจากไม่ไว้วางใจ บางหน่วยงานจะรวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้าหน่วยงานเพื่อสร้างความสำคัญให้กับตนเอง
8. ทำงานตามสายงานอย่างเข้มงวด
แต่ละสายงานแข่งขันกันมากเกินไปและปัดความรับผิดชอบ ปัญหาที่ไม่ตรงสายงานก่อให้เกิดปัญหาการปัดความรับผิดชอบ
9. ไม่มีมาตรฐานงาน
การปฎิบัติงานจึงไม่มีประสิทธิภาพ ใช้ทรัพยากรในการปฎิบัติงานมาก แต่ได้ ผลงานน้อยและคุณภาพของงานไม่ดี
10. เช้าชาม - เย็นชาม
พฤติกรรมการทำงานของข้าราชการบางคนไม่อุทิศตัวให้กับราชการ รับราชการ เป็นงานอดิเรก ให้เสร็จไปวัน ๆ หรือแบบ "เช้าชาม - เย็นชาม" รวมทั้งใช้เวลาราชการในการแสวงการรายได้พิเศษส่วนตัว
11. ไม่ใช้เทคโนโลยี
หากเปรียบเทียบกับภาคเอกชน ระบบราชการไม่ค่อยสนใจที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้ ในการปฎิบัติงานเน้นแต่การใช้แรงงานหรือบุคคลมาก การไม่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เกิดปัญหาเรื่องงานล่าช้าและไร้ประสิทธิภาพ
ผลกระทบต่อหน่วยงานราชการ
การติดยึดกระบวนทัศน์เก่าที่กล่าวมาแล้วได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อหน่วยงานราชการที่สำคัญ คือ
· ประชาชนเกิดวิกฤตศรัทธา
· การบริหารและบริการล่าช้า
· การปฎิบัติงานขาดความยืดหยุ่น
· หน่วยราชการปรับเปลี่ยนไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม
· ขาดการเกื้อหนุนในการทำงาน
· ข้าราชการเกิดความเบื่อหน่าย และนำไปสู่ความท้อถอยในการทำงาน
กระบวนทัศน์ยุคใหม่
การรื้อปรับระบบเริ่มต้นด้วยการทบทวนความคิดใหม่ (Rethinking) ซึ่งเป็นการปรับกระบวนทัศน์ ซึ่งเป็นการคิดที่เปลี่ยนแปลงแตกต่าง จากเดิมอย่างสิ้นเชิงโดยกระบวนทัศน์ที่สำคัญประกอบด้วย
· มองประชาชนเป็นลูกค้าที่ต้องมาเป็นลำดับแรก
· หน่วยงานที่มีโครงสร้างแบนราบ (Flat Organsiztion)
· ทำงานด้วยความรวดเร็ว
· การทำงานเป็นทีม
· ทำงานมุ่งผลสัมฤทธิ์
· สร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่อง
· มุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลง
· การทำงานที่ยึดกระบวนการที่ยืดหยุ่น
· มีการวัดผลงาน
· ประหยัดและไม่พึ่งงบประมาณของรัฐแต่เพียงอย่างเดียว
· แสวงหาทรัพยากรทั้งนอกงบประมาณและทรัพยากรอย่างอื่น ทั้งในและต่างประเทศ
· นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน
*****************
1 comment:
เห็นด้วยกับกระบวนทัศน์ยุคใหม่ ในการปฏิวัติระบบราชการ หากข้าราชการหรือผู้มีอำนาจให้ความสนใจ ไม่ยึดติดอยู่กับระบบเดิม ๆ ระบบราชการไทยจะดีและพัฒนาขึ้นกว่านี้อีกมาก ปัจจุบันข้าราชการไทยส่วนใหญ่ขี้เกียจ ไม่มีความกระตือรือล้นในการทำงาน ทำงานอย่างเช้าชามเย็นชาม เพราะไม่มีความรักในอาชีพของตนเอง มุ่งแต่แสวงหากำไรจากการคอรัปชั่น จากากรจัดซื้อต่างๆ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย เอาหมด !!! ผู้นำยุคใหม่ควรที่จะเจียดเวลาเล็กน้อย (ที่มีอยู่มากมายของท่าน ) หันมาจัดกระบวนทัศน์ใหม่ ไม่ใช่เอาแต่โกงกินชาติบ้านเมือง เหมือนนักการเมืองทั้งหลาย
ประชาชนตาดำ ดำ จะได้อยู่กันอย่างมีความสุข สงบ ไม่หวาดผวากับภัยที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน
Post a Comment