คงไม่มีใครจะคาดคิดได้ว่า โลกเราทุกวันนี้พัฒนาไปเร็วมาก จะเรียกว่าเร็วคงจะไม่ถูกนัก ต้องเรียกว่าพัฒนาไปอย่างเร่งรีบ ไม่รู้ว่าจะรีบไปไหน
ลองคิดดูซิครับ สองหมื่นปีก่อน เรายังเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์ล่าสัตว์เก็บของป่ากันอยู่ สองร้อยปีที่แล้วมนุษย์เรายังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย และมนุษย์เราเพิ่งจะมีทีวีสีดูกันสักห้าสิบปีที่ผ่านมา แต่พอถึงศตวรรษที่ 20 มนุษย์เราพัฒนาไปเร็วมาก ถึงขั้นใช้พลังนิวเคลียร์ มีการยิงดาวเทียม และมีการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ มีการแพทย์ที่ก้าวหน้า และที่สำคัญมีคอมพิวเตอร์
โลกเราพัฒนาไปด้วยอัตราเร่งขนาดนี้ ในศตวรรษที่ 21 คงมีสิ่งมหัศจรรย์ให้เห็นกันอีกมากมาย หรือไม่ก็อาจจะมีความหายนะในโลกให้เห็นกันก็ได้ เริ่มมีตัวอย่างธรรมชาติแปรปรวน เช่นแผ่นดินไหว พายุ น้ำท่วม กันบ้างแล้ว
คอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์มหัศจรรย์อย่างหนึ่ง อำนวยความสะดวกแก่ชีวิตเราอย่างยิ่ง ทำรายได้ให้ประเทศที่เจริญแล้วมากยิ่งขึ้นไปอีก ประเทศไทยอย่างเราจะไปคิดเทคโนโลยีอะไรได้ทันเขา แค่ซื้อเขาก็ยังติดตามไม่ทัน เพราะยังไม่ทันข้ามปี คอมพิวเตอร์ก็ตกรุ่นไปแล้ว
คอมพิวเตอร์ยิ่งเจริญเติบโตมากขึ้นเมื่อต่อเชื่อมคอมพิวเตอร์เป็นเครือข่ายอินเตอร์เน็ต วงการคอมพิวเตอร์ได้สร้างเศรษฐีกลุ่มใหม่ขึ้นในโลก สร้างธุรกิจใหม่ สร้างอาชีพใหม่ ประโยชน์แก่มวลมนุษย์นั้นมีมหาศาล แม้กระนั้น ก็ยังมีคนร้ายเห็นช่องทางนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในการกระทำผิด เป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่ เรียกชื่อว่า “ อาชญากรรม (ทาง) คอมพิวเตอร์ ”
เพราะความเจริญก้าวหน้าของคอมพิวเตอร์ไปรวดเร็วเหลือเกิน กิจกรรมหลายๆ อย่างที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นอกจากจะเกิดประโยชน์ แต่บางกิจกรรมก็มีผลให้เกิดการละเมิดสิทธิระหว่างกัน ซึ่งเป็นด้านลบของคอมพิวเตอร์ ทำให้สังคมเดือดร้อน
ก็เพราะว่าเกิดเดือดร้อนกันทั่วโลก (ยกเว้นประเทศที่ไม่นิยมอินเตอร์เน็ตหรือใช้คอมพิวเตอร์น้อย เขาจะไม่ค่อยเดือดร้อนนัก) รัฐบาลในแต่ละประเทศจึงได้รีบป้องกันโดยร่างกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้บังคับ
กฎหมายอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
ความที่อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่ จึงมีประเด็นข้อกฎหมายต้องพิจารณากันมากมาย เช่น คำจำกัดความเรื่องข้อมูลเป็นทรัพย์สินอย่างไร, พยานหลักฐานในการกระทำผิด เพราะ หลักฐานสำคัญส่วนหนึ่งจะอยู่ในคอมพิวเตอร์ , เขตอำนาจของกฎหมายเพราะการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์สามารถทำได้จากระยะไกล ข้ามเขตแดนของประเทศ ฯลฯ
ปัญหาอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาร่วมกันของโลก นานาชาติ คือสหรัฐอเมริกาและสภายุโรปได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ประเทศไทยเราก็อยู่ในกลุ่มที่ให้ความร่วมมือกับเขาด้วย ทราบว่าประเทศไทยได้ร่างกฎหมายอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาแล้ว (ค.ร.ม.อนุมัติประมาณปี 2546) แต่ปรับแก้กันหลายรอบจนไม่รู้ว่าจะคลอดได้เมื่อไรแน่ ปรากฏว่าแถวบ้านเราก็มีประเทศมาเลเซีย กับสิงคโปร์เขาบังคับใช้แล้ว เป็นกลุ่มแรกๆในโลกเสียด้วย
ความจริงแล้ว เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะการร่างกฎหมายอาชญากรรมเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่ทำง่ายๆ นี่ขนาดประเทศแม่แบบ เขามีทั้งตัวอย่างและยกคณะผู้เชี่ยวชาญมาสอนกระบวนการร่างกฎหมายให้ถึงเมืองไทยแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะมีปัญหาอะไรอีก เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้
แค่ออกกฎหมายยังยุ่งยากถึงเพียงนี้ การบังคับใช้กฎหมายคงมีปัญหาอะไรตามมาอีกไม่น้อย
รูปแบบอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
เราพบว่าโลกอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ มีสองโลก คือ
1. โลกเดิมๆ ที่เป็นอาชญากรรมดั้งเดิม เช่น การขายยาเสพติด การฉ้อโกงกัน การเผยแพร่ภาพลามกเด็ก การล่อลวงและละเมิดทางเพศต่อเด็ก เป็นต้น อาชญากรรมแบบนี้มีมานมนานแล้ว ก่อนจะเข้ายุคคอมพิวเตอร์เสียอีก คือถึงแม้โลกเราจะไม่มีคอมพิวเตอร์ ก็ยังคงมีอาชญากรรมดั้งเดิมแบบนี้อยู่ แต่เดี๋ยวนี้คนร้ายสามารถประกอบอาชญากรรมดั้งเดิมเหล่านี้ ได้สะดวกขึ้นเพราะมีคอมพิวเตอร์ใช้ต่ออินเตอร์เน็ตช่วยในการกระทำผิด คือล่อลวง หลอกลวงกันได้มากขึ้นและง่ายขึ้น เพราะเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมันไปทั่วโลก เรานิยมเรียกอาชญากรรมพวกนี้ ว่า “ อาชญากรรมที่ใช้คอมพิวเตอร์กระทำผิด (computer-related crime) ”
อาชญากรรมดั้งเดิมนี้ สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วเอาผิดคนร้ายได้ ซึ่งนับว่าโชคดีที่เรามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 17 ) พ.ศ.2547 นิยามคำว่า บัตรอิเล็คทรอนิคส์ และเพิ่มหมวดความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็คทรอนิคส์ ทำให้สามารถดำเนินคดีที่มีข้อมูลคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวข้องได้
2. โลกใหม่ เรียกว่าโลกไซเบอร์ก็ได้ เป็นอาชญากรรมรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือถ้าโลกเราไม่มีคอมพิวเตอร์ และไม่มีอินเตอร์เน็ตอาชญากรรมแบบนี้ก็จะไม่เกิด พวกนี้ได้แก่ การเจาะ-บุกรุกเข้าระบบคอมพิวเตอร์ การปล่อยไวรัส การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์จนล่มทำงานไม่ได้ เป็นต้น เรานิยมเรียกอาชญากรรมพวกนี้ ว่า “ อาชญากรรมที่กระทำต่อคอมพิวเตอร์ (computer crime) ”
กรณีของอาชญากรรมรูปแบบใหม่นี้ ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด จึงดำเนินคดียังไม่ได้
ภัยจากอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์
แม้ว่าคอมพิวเตอร์โดยตัวมันเองจะเป็นอาวุธใช้ทำร้ายกันไม่ได้ แต่อาชญากรรมคอมพิวเตอร์สามารถสร้างความเสียหายแก่สังคมได้ และบางครั้งเสียหายมากๆ เสียด้วย
เพื่อความสะดวก ผู้เขียนขอแบ่งภัยออกเป็น 2 จำพวกคือ จำพวกที่หนึ่งเป็น ภัยต่อธุรกิจและองค์กร เดี๋ยวนี้บริษัทไหนไม่มีเว็บไซต์ต้องถือว่าเชยเหลือเกิน เพราะอินเตอร์เน็ตช่วยส่งเสริมธุรกิจ และมีลูกค้าจำนวนมากนิยมติดต่อบริษัททางเว็บ อย่างไรก็ดี ก็เป็นช่องทางให้คนร้ายเข้ามาทำความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรได้
จากรายงานของ CSI/FBI ปี 2005 ซึ่งสำรวจข้อมูล 700 บริษัทในสหรัฐอเมริกา พบความเสียหายเป็นมูลค่าถึง 130 ล้านเหรียญ ความเสียหายส่วนใหญ่มาจากการปล่อยไวรัส การเจาะระบบ และขโมยข้อมูล สำหรับประเทศไทยเรา เท่าที่ผ่านมายังไม่ค่อยมีสถิติรายงานออกมาเป็นกิจจะลักษณะ เพราะเก็บรวบรวมได้ยาก สาเหตุสำคัญคือ ภาคธุรกิจเอกชนไม่ค่อยอยากเปิดเผยหรือให้ข้อมูลเกรงจะเสียหายต่อภาพลักษณ์โดยเฉพาะความเชื่อถือของลูกค้าของตน นอกจากนั้น บริษัทเหล่านี้ก็มีหน่วยรักษาความปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ขององค์กรตัวเองอยู่แล้ว
จำพวกที่สองเป็น ภัยต่อบุคคล หมายถึงประชาชนทั่วไปนี่แหละครับ ใครที่ไม่ใช้อินเตอร์เน็ต และไม่มีอีเมล์เป็นของตัวเอง โอกาสที่จะประสบภัยอินเตอร์เน็ตก็จะน้อย แต่อย่านึกว่าจะไม่โดนนะครับ
ลองดูคดีตัวอย่างของสาวชื่อ Michelle Brown เพียงแต่ข้อมูลส่วนตัวของเธอหลุดไปอยู่ในมือคนร้าย แล้วคนร้ายก็ใช้ข้อมูลนั้นไปทำความเสียหายต่อเธออีกมากมาย (เรื่องนี้เคยทำเป็นหนังออกมาฉายแล้ว ช่วงนี้ก็ออกฉายช่อง UBC อยู่ หนังชื่อ Identity Theft) เธอโดนแอบอ้างว่าเป็นตัวเธอ ใช้บัตรเครดิตปลอมซื้อสินค้าทั้งไปซื้อที่ร้านและซื้อทางอินเตอร์เน็ต ตัวตนของเธอถูกแอบอ้างถึงขนาดไปก่ออาชญากรรมค้ายาเสพติด ทั้งหมดนี้ เกิดจากคนที่แอบอ้างว่าเป็นตัวเธอ ทั้งๆที่เธอไม่ได้รู้เห็นเกี่ยวข้องด้วย ความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเธอนั้นมหาศาลประเมินค่าไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่แอบอ้างชื่อเฉยๆ แต่มันมีผลร้ายแรงอื่นเกิดขึ้นด้วยและเข้ามารบกวนชีวิตส่วนตัวของเธอ เครดิตของเธอยับเยิน เธอถูกจับข้อหาค้ายาเสพติด กว่าจะรู้ว่าผิดตัว แทบแย่
สำหรับประเทศเราก็ไม่ได้แตกต่างจากประเทศเจริญแล้วมากนัก เพียงแต่คนใช้อินเตอร์เน็ตของเขามากกว่าเราเป็นหลายสิบเท่า (จากข้อมูล www.clickz.com ปี 2005 คนใช้อินเตอร์เน็ตของสหรัฐอเมริกา 200 ล้านคน จีน 100 ล้านคน ของไทยเรา 8 ล้านคน ) เรามีคดีมากพอสมควรตั้งแต่หมิ่นประมาทธรรมดาๆ ฉ้อโกง หลอกลวงไปจนถึงฆาตกรรม ไม่ได้น้อยหน้าต่างประเทศเขาหรอกครับ ขนาดแชต(คุย) กันอยู่ดีๆ แล้วหลงใหลจนนัดเจอตัว ถึงขนาดฆ่ากันแบบหนุ่มปากีสถานฆ่าหั่นศพอาจารย์สาว ก็เพิ่งจะเกิดเมื่อเร็วๆนี้
แนวโน้มของอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ในอนาคตจะเกิดขึ้นมาก เพราะทำได้ง่าย เร็ว รวยทันตาเห็น และตามจับได้ยาก คนกระทำผิด (เรียก แฮกเกอร์) ที่แต่ก่อนเป็นอัจฉริยะชอบอวดความสามารถว่าเก่ง และไม่แสวงประโยชน์ คงจะมีน้อยลงและกลายพันธุ์ไปเป็นอาชญากรจริงๆ เนื่องจากผลประโยชน์มหาศาลน่าจูงใจ ให้อาชญากรร่วมมือกับแฮกเกอร์กระทำผิด.... ต่อไปแฮกเกอร์ดีๆ ชักจะหายากแล้ว
ถ้ามีกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์, แล้วยังไง?
มีคนถามเหมือนกันครับ ว่ามีกฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ จะช่วยได้สักแค่ไหน ผู้เขียนคิดว่า คงดีกว่าไม่มี ที่ผ่านมาภาคราชการเราอืดอาด มักจะปล่อยให้ทำผิดกันไปก่อน ร่างกฎ ระเบียบ กติกากันไม่ทัน ก็เลยขอความร่วมมือภาคธุรกิจ ถ้าเขาให้ก็ดีไป ถ้าเขาไม่ให้ ก็ลำบาก บางทีปล่อยให้ทำผิดกันนานๆ จนกระทั่งกลายเป็นถูกไปได้ก็ยังมี (เช่น บุกรุกที่สาธารณะ หาบเร่ รถตู้ จยย.รับจ้าง เป็นต้น)
เคยได้ยินว่า หลายๆ ปัญหาต้องแก้โดยใช้มาตรการทางสังคม แต่สังคมไทยเราอ่อนแอ ไม่แน่ใจว่าจะมีพลังไปสู้อิทธิพลอะไรได้ ยกเว้นเมื่อเร็วๆนี้ ขอชมเชย ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งเครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายครอบครัว เครือข่ายเยาวชนสร้างสรรค์ สหพันธ์นิสิต นักศึกษา เภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย เอแบคโพลล์ ร่วมมือกัน “ ถล่ม ” ร้านสะดวกซื้อ “ เซเว่น ” กรณีฝ่าฝืนมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการห้ามตั้งโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย เพราะรู้สึกว่าจะไม่ร่วมมือ แสดงความหัวหมอ ขอให้ตีความ แต่สุดท้ายต้องยอมสยบต่อกระแสสังคม
ความจริง ธุรกิจที่มอมเมาเยาวชนนอกจากบุหรี่แล้วก็มีอย่างอื่นอีก เอาเฉพาะที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ก็มีร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต เว็บที่เผยแพร่สื่อทางเพศที่ยั่วยุมอมเมาเยาวชน ตั้งแต่ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บริการเข้าใช้อินเตอร์เน็ต บริการเช่าเครื่อง รับฝากเครื่อง บริการฝากเก็บข้อมูล บริการจัดทำข้อมูล.. ไปจนถึงบรรณาธิการที่เรียกว่า เว็บมาสเตอร์ ตอนแรกทำธุรกิจ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่พอทำธุรกิจใหญ่โตขึ้นก็เลยลืมนึกถึงความเสียหายต่อสังคม
ถ้าไม่เชื่อ ทางราชการลองขอความร่วมมือดู ก็จะพบว่าไม่ง่าย เพราะเจอข้ออ้าง เรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลบ้าง เรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (free speech) ตามรัฐธรรมนูญบ้าง ฯลฯ
ปัญหาที่เกิดขึ้นมักจะคล้ายๆกัน คือภาคราชการให้อนุญาตประกอบธุรกิจได้ แต่ควบคุมจัดระเบียบเขาไม่ได้ง่ายๆ พวกเราต้องช่วยกันเชียร์กระทรวงไอซีที ให้เก่งกล้าเหมือนกระทรวงสาธารณสุข
จะระวังภัยร้ายทางอินเตอร์เน็ตอย่างไร?
อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งความรู้ เปรียบเสมือนห้องสมุดขนาดใหญ่ เป็นสื่อใหม่ที่มีประโยชน์มหาศาล ถ้ารู้จักใช้อย่างปลอดภัย แต่ก็มีคนชั่วร้ายจำนวนหนึ่งหาช่องทางนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น เผยแพร่ข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง โจมตีฝ่ายรัฐบาล ละเมิดสิทธิเสรีภาพ บางอย่างก็เป็นความเสี่ยงอันตรายต่อสังคม เช่น สอนทำระเบิด สอนวิธีฆ่าคน สอนลัทธิประหลาด นอกจากนี้ยังมีการโฆษณาธุรกิจหลอกลวง ขายบริการทางเพศ การใส่ร้ายป้ายสีกัน ฯลฯ
แม้ในโลกอินเตอร์เน็ตจะมีภัยร้ายแอบแฝงอยู่ แต่ไม่ได้อันตรายมากจนน่ากลัว ผู้เขียนเคยฟังมาจากไหน ก็จำไม่ได้ เขาบอกว่า เวลาเข้าอินเตอร์เน็ต ให้ตั้งสติ ท่องคำว่า “ไม่” ไว้เสมอ คือ ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว, ไม่ติดต่อคนที่ไม่รู้จัก, ไม่งกของฟรีในอินเตอร์เน็ต, ไม่ตอบ yes สุ่มสี่สุ่มห้า, ไม่ออนไลน์ค้างไว้เมื่อไม่ใช้เน็ต, ไม่.. ไม่ .... และไม่เผลอลืมขาดสติ ด้วย
ประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะห่วงใยและปกป้องเยาวชนจากภัยอินเตอร์เน็ตเป็นพิเศษ เพราะเยาวชนอ่อนโลก เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมได้ง่าย ข้อมูล i-SAFE America Inc. สำรวจเยาวชนกว่า 3 หมื่นคนในอเมริกาเมื่อปี 2004 พบว่า เยาวชน 40% เคยเข้าเว็บที่ไม่เหมาะสม 40% ไว้วางใจคนที่แชต(คุย)ใน (อินเตอร์) เน็ต 10% นัดเจอตัวจริงกันทั้งที่แค่รู้จักกันในเน็ต น่าตกใจนะครับ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องดูแลใกล้ชิด อย่าให้คลาดสายตา
ขอแนะนำให้อ่าน “ คู่มือ ECPAT ปกป้องน้องน้อยจากภัยออนไลน์ ” ของมูลนิธิยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT) และ “ คู่มือการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ” ของเนคเทค
มีคำแนะนำในการป้องกันข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเราให้ปลอดภัยเมื่อต่ออินเตอร์เน็ต หาอ่านได้จากบทความ “ การรักษาความปลอดภัยเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่าน ” ของเนคเทค ซึ่งมีคำอธิบายและแนะนำการใช้โปรแกรมป้องกันไวรัส, การอุดช่องโหว่, การใช้โปรแกรมไฟร์วอลล์ เป็นต้น
ก็เหมือนกับตอนแรกๆ ที่มนุษย์สร้างรถยนต์ หรือมีถนนวิ่ง คงไม่มีใครคาดคิดว่าการใช้รถใช้ถนน จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุ คนบาดเจ็บล้มตาย และพิการ รวมแล้วปีละนับสิบล้านคน สิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เรียกว่า อินเตอร์เน็ต ก็เช่นเดียวกัน มีคนเคราะห์ร้าย ได้รับความเดือดร้อน เสียหายทั้งทรัพย์สิน ร่างกายและจิตใจ หรือสังเวยชีวิตไปเพราะอินเตอร์เน็ตจำนวนไม่น้อย
หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้โดยไม่มีการควบคุม ต่อไปจะแก้ไขลำบาก เพราะเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นรวดเร็วมาก ครั้นจะรอให้ภาคราชการวางกฎระเบียบ เกรงว่าจะช้าไปหน่อย ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะเอกชน น่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่า ครับ..ช่วยกันรณรงค์สร้างสำนึกความปลอดภัยในการใช้อินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการคืนกำไรธุรกิจมาช่วยทำบุญและไถ่บาปจากที่ไปสร้างเคราะห์ให้เขา
ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตน่าเชื่อถือไหม?
มีข้อมูลมหาศาลในโลกอินเตอร์เน็ตแทบจะเรียกได้ว่ามีทุกอย่าง ข้อมูลที่เราไม่เคยรู้เลยก็สามารถค้นหาได้ (ถ้าค้นเก่ง) เมื่อค้นหาพบแล้ว อย่าด่วนเชื่อตามนั้น เพราะอาจมีข้อมูลที่บอกตรงข้ามกับที่เราค้นพบก็ได้ ลองหาข้อมูลตรงข้ามดูแล้วท่านจะรู้ว่าข้อมูลนั้นน่าเชื่อหรือไม่ ตัวอย่างเช่น มีเว็บไซต์เชียร์ทักษิณแล้ว ก็มีเว็บไซต์ที่ด่าทักษิณเหมือนกัน
ทุกครั้งเมื่อเราอ่านข้อมูลในอินเตอร์เน็ต ต้องตระหนักเสมอว่า อินเตอร์เน็ตเป็นแหล่งข้อมูลรวมทั้งจริงและเท็จปะปนกันอยู่ ไม่มีการตรวจสอบว่าอะไรจริงอะไรโกหกหลอกลวง เราจึงมักจะลืมไปว่า อินเตอร์เน็ต ก็เป็นสื่อประเภทหนึ่งเช่นเดียวกับวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ แตกต่างกันตรงที่เป็นสื่อที่นำเสนอโดยไม่ค่อยมีการควบคุมและตรวจสอบ ข้อมูลที่นำเสนอไม่จำเป็นต้องจริงตามนั้น ฉะนั้น ผู้บริโภคสื่อต้องใช้วิจารณญาณเองว่าน่าเชื่อถือเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นสำนักหรือแหล่งข้อมูลใด มีชื่อเสียงแค่ไหน ขอให้สอบทานจากหลายๆแหล่ง แล้วจึงเลือกเชื่อบางส่วน จะเชื่อบ้างหรือเชื่อทั้งหมด ก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่าน อย่าว่าแต่สื่อไทยเลย สื่อเทศแม้แต่สำนักข่าวมีชื่อเสียงอย่าง CNN หรือ BBC ก็เถอะ เวลาบริโภค ควรใช้วิจารณญาณเหมือนกัน
ฉะนั้น อย่าคิดแต่ปฏิรูปด้านสื่อ ต้องรณรงค์ปฏิรูปผู้บริโภคสื่อด้วย หมายความว่าต้องสร้างทัศนคติให้คนไทย เป็นคนขี้สงสัย ความสงสัยนี้จะทำให้เรามีเหตุผลไม่เชื่อง่าย เพราะในอินเตอร์เน็ต เราไม่รู้ใครเป็นใคร เขาปกปิดตัวตนจริง อย่าลืมว่า ใครอยากเอาข้อมูลเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต จะถูกหรือผิด จะจริงหรือเท็จ ก็สามารถทำได้ ถ้าหลงเชื่อตามข้อมูลอินเตอร์เน็ต อาจเสียใจภายหลัง
ครับ..ใช้วิจารณญาณ มากๆ
ถ้าโดนไปแล้ว จะทำอย่างไร?
ได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คืออะไร ตัวอย่างของอาชญากรรมเหล่านี้ คือ
• อาชญากรรมดั้งเดิม (ที่ใช้ คอมพิวเตอร์ ในการกระทำผิด) ได้แก่ ความผิดต่อทรัพย์ ฉ้อโกง ขู่กรรโชก สร้างความเดือดร้อนรำคาญ หมิ่นประมาท อนาจาร ค้าขายสิ่งผิดกฎหมายเช่นวัตถุลามก ขายบริการทางเพศ ยาอันตราย ยาเสพติด ฯลฯ
• อาชญากรรมต่อคอมพิวเตอร์ ได้แก่ การเจาะระบบคอมพิวเตอร์ การขโมย การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูล การเผยแพร่โปรแกรมไวรัสหรือโปรแกรมอื่นเพื่อโจมตี ทำลายระบบหรือข้อมูล ฯลฯ
เมื่อท่านคิดว่าได้รับความเสียหายหรือคิดว่าตัวเองตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ ท่านสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ อย่างไรก็ดี การกระทำผิดบางอย่าง กฎหมายไทยยังไม่มีบัญญัติว่าเป็นการกระทำผิด ก็ไม่สามารถดำเนินคดีได้ แต่สำหรับการกระทำผิดส่วนอื่นที่มีบัญญัติไว้ว่าเป็นการกระทำผิด ก็สามารถดำเนินคดีได้
กรณีฉุกเฉิน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าท่านได้รับอีเมล์ ข่มขู่ บอกว่า “ระวังให้ดี กูกำลังจะมาหามึง จะฆ่าล้างโคตร” กรณีอย่างนี้ เป็นเหตุฉุกเฉิน ให้โทร 191 แจ้งเหตุฉุกเฉินทันที หรือไม่ก็ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากตำรวจใน สน. ท้องที่ของท่านทันที อย่ารอช้า
กรณีไม่ฉุกเฉิน
1. แจ้งโดยตรง แต่ถ้าไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน ท่านสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ที่ สน. ท้องที่ของท่าน หรือ ถ้าไม่แน่ใจว่า เหตุเกิดที่ไหน ก็แจ้งความร้องทุกข์ ที่กองบังคับการปราบปราม จตุจักร โทร 02-9393700-19 หรือที่กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี บางรัก โทร 02-2371199
2. แจ้งทางอินเตอร์เน็ต ท่านสามารถร้องเรียนทางอินเตอร์เน็ตได้ หรือหากท่านพบเห็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หรือเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย เว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ท่านสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนทางอินเตอร์เน็ตได้ ทางเว็บไซต์ของหน่วยราชการต่างๆ เช่น www.htcc.police.go.th/webreport/index.php หรือ www.police.go.th/complaint.htm หรือ www.dsi.go.th หรือ www.rakang.thaigov.go.th หรือ www.mict.go.th/news/complain.aspx
**************************
ข้อมูลอ้างอิง
- 2005 CSI/FBI Computer Crime and Security Survey
- Verbal Testimony by Michelle Brown (http://www.privacyrights.org/cases/victim9.htm)
- โพลประจาน “เซเว่น” ประณามธุรกิจไร้จริยธรรม ประกาศบอยคอตสั่งสอน (ผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤศจิกายน 2548 17:26 น.)
- Annual Report 2004 ของ i-SAFE America Inc.
- “ คู่มือ ECPAT ปกป้องน้องน้อยจากภัยออนไลน์ ” (http://www.ecpat.net/eng/Ecpat_inter/Publication/Other/Thai/Pdf_page/ecpat_onlinesafety_th.pdf)
- Safety net : คู่มือการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป (http://thaicert.nectec.or.th/paper /basic/safety_net.pdf)
- บทความ “การรักษาความปลอดภัยเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่าน” พ.ต.ปนิวัธน์ ทรัพย์รุ่งเรือง ((http://thaicert.nectec.or.th/paper /basic/home_computer_security.pdf)
- รายงานวิจัยเรื่อง การกำกับดูแลเนื้อหาอินเทอร์เน็ต โดยพิรงรอง รามสูต รณะนันท์และนิธิมา คณานิธินันท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (มีนาคม 2547)
No comments:
Post a Comment