Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Thursday, October 4, 2007

อาวุธไม่ถึงตายช่วยป้องกันตำรวจทำเกินกว่าเหตุ

อาวุธไม่ถึงตายช่วยป้องกันตำรวจทำเกินกว่าเหตุ

พฤษภาคม 2547
------------------------

ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา นับว่าเป็นยุคที่ยาบ้าแพร่หลายสุดขีด เราได้รับฟังข่าวคนเมายาบ้าคลุ้มคลั่ง อาละวาดก็มี ทำร้ายตนเองก็มี จับตัวประกันและทำร้ายเด็กหรือผู้หญิงก็มี สร้างความเสียหายต่อสังคมเป็นอย่างมาก ถึงขนาดบาดเจ็บ และเสียชีวิต นำมาซึ่งความเศร้าสลดต่อผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมนั้น
คนเหล่านี้มิใช่คนร้ายโดยสันดาน แต่เป็นคนที่ขาดสติ เมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างหนักในการใช้สติปัญญา ไหวพริบ เพื่อเข้าแก้ไขสถานการณ์ ก็เพราะความที่เป็นคนบ้า เสียสติ ไม่ใช่คนร้ายโดยสันดานนี่เอง จึงทำให้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลพินิจ ตั้งแต่กันไทยมุงต่าง ๆ สยบความแข็งกร้าวของคนร้าย ลดความหวาดระแวงของคนร้าย เจรจาหว่านล้อม ห้ามยั่วยุคนร้าย ยื้อเวลารอจังหวะเพื่อระงับเหตุ ห้ามใช้อาวุธปืนเด็ดขาด
แม้ว่าส่วนมากตำรวจจะประสบความสำเร็จ แต่ก็น่าเสียดายที่บางครั้งมีตัวประกันเสียชีวิต ตำรวจไทยมีประสบการณ์ในเหตุการณ์ทำนองนี้มาหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ได้รับการฝึกฝนมาดีพอสมควร ทำให้ระงับเหตุร้ายต่าง ๆ ได้เรียบร้อยอย่างน่าชมเชย
ที่ผ่านมา ปัญหาเกี่ยวกับการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยพบไม่บ่อยนัก อาจเป็นเพราะว่า ประชาชนไม่อยากเป็นความกับเจ้าหน้าที่ แต่ในอนาคต คาดว่าจะมีมากขึ้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้ให้การรับรองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคและหน้าที่ของประชาชนไว้ชัดเจน ที่พบอยู่บ่อยๆ ก็คือกรณีของเหตุชุลมุนในการชุมนุมร้องเรียน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีปัญหาถกเถียงกันอยู่อย่างมากในประเด็นตำรวจทำเกินกว่าเหตุ

ระดับความรุนแรงของการใช้กำลัง

เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการที่ตำรวจใช้กำลังระงับเหตุเกิดขึ้นอยู่ทุก ๆ วัน เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ว่าตำรวจจะเจอพวกขี้เมา พวกสติฟั่นเฟือน หรือผู้ที่ไม่ยอมร่วมมือขัดขืน ดื้อดึง ก่อเหตุร้าย ตำรวจก็จะต้องเลือกวิธีจัดการต่อเหตุนั้นอย่างปลอดภัย วิธีดังกล่าวมีรูปแบบตามระดับความรุนแรง ตั้งแต่การออกคำสั่งด้วยวาจาให้ปฏิบัติตาม การห้ามปราม จนถึงการใช้กำลังร่างกายลงมือด้วยเทคนิคการสยบคนร้าย หรือ ใช้อาวุธประเภทกระบอง สเปรย์พริกไทย หรืออาวุธปืน
ในปี ค.ศ.1989 ศาลสูงสหรัฐได้วินิจฉัยชี้ขาดระดับความรุนแรงของการใช้กำลังตำรวจว่า ต้องตัดสินโดยพิจารณาจาก “ ความเห็นหรือวิจารณญาณ ของตำรวจที่ดี มีเหตุผลอันพึงปฏิบัติในเหตุการณ์อันตึงเครียดและไม่แน่นอนนั้น ๆ ” โดยระลึกเสมอว่าการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจและประชาชนอาจทวีความรุนแรงขึ้นไปจนถึงควบคุมไม่ได้ในชั่วพริบตา
นอกจากนี้ศาลยังเน้นว่าระดับความรุนแรงในการใช้กำลังต้องพิจารณาจากการกระทำของผู้ก่อเหตุเป็นสำคัญ ตำรวจมีหน้าที่ตอบสนองต่อการกระทำนั้น กล่าวคือ ถ้าผู้ก่อเหตุให้ความร่วมมือเจ้าหน้าที่จะต้องสงบใจเย็นในการใช้อำนาจ ถ้าผู้ก่อเหตุดื้อและต่อสู้ขัดขืน เจ้าหน้าที่จะต้องใช้เทคนิคการจับกุม เพื่อสยบคนร้ายให้อยู่ในความควบคุม หากคนร้ายกลับคืนสู่การยินยอมเจ้าหน้าที่ก็จะต้องลดระดับความรุนแรงลงให้สอดคล้องกับผู้ก่อเหตุ ( ดูตารางที่ 1 ) สำหรับรายละเอียดแต่ละระดับความรุนแรงจะขอไม่อธิบายในที่นี้


ตารางที่ 1 แสดงระดับความรุนแรงของการใช้กำลัง




กฎการใช้อาวุธถึงตาย

ในอดีตตำรวจได้รับอำนาจในการใช้กำลังอาวุธถึงตายในสถานการณ์ 2 แบบ คือ แบบแรกเพื่อป้องกันรักษาชีวิตตนเอง หรือผู้อื่น เรียกว่า กฎรักษาชีวิต ( Defense of life ) กฎข้อนี้มีความชัดเจนในตัวและไม่เป็นปัญหา
แต่แบบที่สองเพื่อหยุดยั้งการหลบหนีของคนร้าย เรียกว่า กฎคนร้ายหลบหนี ( Fleeing felon ) กฎข้อนี้มีปัญหาถกเถียงกันมากมาย จนกระทั่งในปี ค.ศ.1985 กฎข้อหลังนี้จึงถูกปรับแก้ใหม่ เนื่องจากครั้งหนึ่งในมลรัฐเทนเนสซี่ สหรัฐอเมริกา เจ้าของบ้านโทรศัพท์แจ้งตำรวจว่าเกิดเหตุขโมยเข้าบ้าน เมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ เห็นคนร้ายกำลังหลบหนีออกจากบ้านพอดี ตำรวจจึงเรียกให้หยุด แต่คนร้ายไม่ยอมหยุดตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ จึงถูกยิงตาย ปรากฏว่าคนร้ายในคดีนี้เป็นเด็กอายุ 15 ปี และตรวจพบเงินในกระเป๋าเพียง 10 เหรียญ ซึ่งก็คือเงินที่ขโมยมาจากในบ้านนั้น
ภายใต้กฎหมายของรัฐเทนเนสซี่ ขณะนั้น ตำรวจสามารถใช้อาวุธถึงตายในการหยุดยั้งการหลบหนีของคนร้าย พ่อแม่ของเด็กคนร้ายฟ้องร้องต่อศาลว่ากฎหมายข้อนี้ขัดรัฐธรรมนูญ คดีขึ้นมาถึงศาลสูงในปี ค.ศ.1985 ศาลสูงตัดสินให้พ่อแม่ของเด็กนี้ชนะคดี เพราะการยิงผู้ที่สงสัยว่าเป็นคนร้าย ที่กำลังหลบหนี ( ทั้งที่ไม่มีอาวุธและไม่แสดงความรุนแรง ) ขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ซึ่งห้ามการตรวจค้นและจับกุมโดยไม่มีเหตุอันควร (unreasonable search and seizure)
คำตัดสินครั้งนั้น ทำให้กฎการใช้กำลังอาวุธถึงตายของตำรวจที่บังคับใช้มาถึง 30 ปี ต้องยกเลิกไป เหลือกฎรักษาชีวิตข้อเดียวคือ ใช้กำลังอาวุธถึงตายได้ในกรณีที่เชื่อว่าคนร้ายแสดงอาการคุกคามต่อชีวิตตำรวจ หรือผู้อื่น

เทคโนโลยีอาวุธไม่ถึงตาย

สังคมทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในประเทศที่เจริญแล้ว นอกจากจะมีการศึกษาวิจัยระดับความรุนแรงเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่แล้ว ยังได้มีการศึกษาวิจัยคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเรียกว่า เทคโนโลยีอาวุธไม่ถึงตาย ( Less Lethal Technology ย่อว่า LLT ) เพื่อช่วยให้ตำรวจได้มีทางเลือกสำหรับการใช้กำลังตามสถานการณ์

อาวุธไม่ถึงตายที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
1. อาวุธประเภทตี ( impact weapons )
2. สเปรย์พริกไทย ( pepper sprays หรือ Oleoresin Capsicum )
3. อุปกรณ์ช็อคไฟฟ้า ( electronic stun devices)
4. แก๊สน้ำตา ( tear gas )
5. เครื่องยิงกระสุนยาง ( projectile launchers )
6. อุปกรณ์อื่น ๆ

1. อาวุธประเภทตี ( Impact weapon )
ออกแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องทุ่นแรง ในการตี, กระทุ้ง, ดัน, ป้องกันหรือห้าม หรือควบคุมผู้ที่ต่อสู้ขัดขืน อาวุธประเภทตีนี้ได้แก่ กระบองชนิดต่างๆ เป็นต้น บางแบบก็ออกแบบเป็นกระบอกไฟฉายโลหะทำหน้าที่เป็นกระบองได้ด้วย แต่อาวุธพวกนี้จะมีน้ำหนักมากเพราะถ่านไฟฉายหนัก และตัวกระบอกมักมีขอบสัน คม เมื่อฟาดแรง ๆ อาจถึงบาดเจ็บสาหัส พวกอาวุธกำลังภายในของพวกกังฟู ก็เป็นกระบองประเภทหนึ่ง แต่อาวุธประเภทนี้ต้องฝึกฝนนานกว่า จะชำนาญ
กระบองที่ตำรวจนิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ แบบยืดได้ , แบบตรง และ แบบมีที่จับอยู่ด้านข้าง ข้อดีของอาวุธประเภทกระบองก็คือ มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก ห้อยเข็มขัด เหน็บเอวได้ ถ้าเป็นกระบองแบบยืดหดได้จะพกได้มิดชิด เหมาะกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ถ้าเป็นกระบองแบบตรง การพกพาให้มองเห็น ก็เป็นข้อดีตรงที่ป้องปราม กระบองมีราคาไม่แพง ฝึกใช้ง่าย ใช้ได้ผลในการยับยั้งผู้ที่ถืออาวุธ สังคมทั่วไปยอมรับอาวุธประเภทนี้
ส่วนข้อเสียของกระบองได้แก่ ใช้ได้ผลในระยะประชิด ถ้าเป็นกรณีประจันหน้ากับผู้ที่ถือมีดหรือดาบ กระบองไม่ค่อยเกิดประโยชน์
กระบองอาจทำให้บาดเจ็บได้ทั้งเล็กน้อยจนถึงกระดูกหัก ฟกช้ำ ตกเลือด ถ้าตีหัวแรงๆอาจถึงตายได้ แม้ว่ากระบองจะพกพาได้ง่าย แต่ก็จำเป็นต้องถอดออกวางในตอนนั่งรถ เจ้าหน้าที่บางคนเห็นว่าน่ารำคาญ จึงตั้งใจวางทิ้งไว้ในรถ หรือไม่ก็อาจลืมพกไปด้วย นอกจากนี้กระบองแบบยืดได้ บางทีถ้าหากไม่หมั่นดูแล ก็มีปัญหาตอนใช้งานจริงกลับฝืด สะบัดแล้วไม่ยอมยืดออก

2. สเปรย์พริกไทย ( Oleoresin Capsicum หรือ O.C. )
สกัดจากพืชตระกูล Cayenne pepper plant มี 9 พันธุ์ ที่ใช้ทำสเปรย์ Capsicum มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น มีรสเผ็ด ใช้เป็นอาหารได้ ใช้ทาถู นวดกล้ามเนื้อได้ วิธีวัดความเผ็ดร้อนของ O.C. วัดเป็นหน่วยความร้อน ซึ่งค้นพบโดยนาย Scoville สมัยก่อนใช้ลิ้นคนทดสอบ แต่ปัจจุบันมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์ใช้ทดสอบ
ตัวอย่างค่าความเผ็ดร้อน : พริกหยวก ( Sweet green bell pepper ) มีค่าเท่ากับ 1 หน่วย ( heat unit ) Capsicum มีค่า 0-15 ล้านหน่วย สำหรับ O.C. ที่ใช้ทำสเปรย์พริกไทย จะมีค่า 2 ล้านหน่วย
ความจริง การใช้สารเผ็ดแสบร้อน หรือสารระคายเคือง เพื่อหยุดยั้งเข้าควบคุมคนร้ายนี้ ไม่ใช่การคิดค้นใหม่ เมื่อ 2,000 ปีก่อน คนจีนใช้วิธีขว้างห่อเครื่องเทศพริกไทยใส่ข้าศึก นักรบญี่ปุ่นก็ใช้อาวุธแบบนี้ทำให้ข้าศึกตาพร่ามองไม่เห็นชั่วขณะ
ตำรวจในอเมริกาและแคนาคาใช้สเปรย์พริกไทยมากว่า 20 ปีแล้ว เพราะมีข้อดีกว่าแก๊สน้ำตา คือ ถ้าใช้ถูกต้องจะไม่มีการบาดเจ็บ และไม่มีปัญหาสารเคมีเปรอะเปื้อน สเปรย์พริกไทยในงานตำรวจ จะบรรจุเป็นกระป๋องสเปรย์ขนาด 55 gm เหน็บเอว หรือเป็นขนาดถังใหญ่ 250-400 gm ใช้ควบคุมฝูงชน
ตอนแรกๆ ใคร ๆ ก็คิดว่า O.C. เป็นของวิเศษ สามารถนำมาใช้เป็นอาวุธแทนปืนได้ แต่จริง ๆ แล้ว มีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ใช้ได้ในระยะประชิดเหมือนกระบองคือ 3-6 ฟุต สำหรับการควบคุมฝูงชน ซึ่งการปฏิบัติจะยืนอยู่ห่าง ราว 20 ฟุต ต้องใช้แบบถังซึ่งไม่สะดวกในการพกพา นอกจากนี้ฝนและลมยังทำให้ระยะหวังผลน้อยลงไปอีก เพราะตัวสเปรย์จะต้องถูก บริเวณที่ตาเท่านั้น ถูกบริเวณอื่นไม่ได้ผล
เคยมีข้อมูลว่า สเปรย์พริกไทยไม่สามารถใช้ได้ผลกับคนบางประเภทโดยเฉพาะพวกนักมวยกังฟู หรือ กำลังภายใน หรือคนบ้า พวกนี้สามารถทนต่อการฉีดสเปรย์ได้หลายครั้ง บางคนสามารถปิดตาได้รวดเร็วมากจนสเปรย์พริกไทยไม่ทำงาน
สเปรย์พริกไทยยังมีข้อเสียอีกข้อหนึ่งก็คือ แม้ทำงานได้ผล แต่ก็สยบคนร้ายได้ไม่สมบูรณ์ ลองเปรียบเทียบ 2 สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นต่อไปนี้ :
กรณีที่ 1 เจ้าหน้าที่ใช้สเปรย์สยบนักโทษที่คลุ้มคลั่งในห้องขังได้ โดยพ่นผ่านลูกกรงเข้าไปในห้องขัง เพียง 5 วินาที เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวนักโทษได้ โดยไม่มีการบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย
กรณีที่ 2 คนบ้าถือมีดเข้าจู่โจมเจ้าหน้าที่ในระยะประชิด เจ้าหน้าที่ใช้สเปรย์ฉีดใส่ใบหน้าได้ทันที แต่ในช่วงเวลากว่าสเปรย์จะสยบคนร้ายได้ ปรากฏว่าคนบ้าโถมเข้าหาและแทงบริเวณคอของเจ้าหน้าที่ แม้ว่าหลังจากนั้นคนบ้าจะถูกควบคุมตัวได้ แต่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งก็ได้รับบาดเจ็บ
3. เครื่องช็อคไฟฟ้า ( electronic stun device )
เครื่องช็อคไฟฟ้าเริ่มนำมาใช้ราวปี ค.ศ.1985 ปัจจุบันมี 2 แบบ คือ ปืนจี้ไฟฟ้า ( stun gun ) และปืนยิงลูกดอกไฟฟ้า(TASER) เครื่องช็อคทั้ง 2 แบบใช้หลักการป้อนไฟฟ้าแรงดันสูง แต่กระแสต่ำ เข้าสู่ร่างกาย ทำให้คนร้ายไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ชั่วขณะ เพราะกล้ามเนื้อหดตัวทันที โดยทั่วไปคนร้ายจะทรุดลงกับพื้นในลักษณะสั่น และ ชักกระตุก คนร้ายจึงสยบลงได้ชั่วขณะ แม้จะมึนงง แต่คนร้ายก็มักจะมีสติ
แบบแรกคือปืนจี้ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ 9 โวลท์ มีลักษณะคล้าย ๆ ที่โกนหนวดไฟฟ้า มีสองเขี้ยว สำหรับจี้เข้าที่ร่างกายของคนร้าย การใช้งานจึงต้องอยู่ในระยะประชิด ถ้าจะใช้ระยะห่าง ต้องใช้แบบที่ต่อให้ยาวขึ้นซึ่งค่อนข้างเทอะทะ
ปืนจี้ไฟฟ้า ผลิตไฟ 4-5 หมื่นโวลท์ กระแส 50-60 มิลลิแอมป์ เป็น แบบกระตุก ( pulse ) วิ่งผ่านเขี้ยวทั้งสอง ซึ่งเมื่อจี้กล้ามเนื้อบริเวณ กระเพาะ ขา แผ่นหลังส่วนล่าง แขน และหน้าอกส่วนบน พลังงานไฟฟ้าจะทำให้กล้ามเนื้อหดตัว ประกายไฟฟ้านี้สามารถทะลุผ่านเสื้อผ้าเข้าไปได้ เว้นแต่ถ้าเป็นเสื้อกันหนาวที่ค่อนข้างหนามาก ๆ ก็จะใช้ไม่ได้ผล
ปืนจี้ไฟฟ้านี้มีข้อดีตรงที่ ใช้ขู่ได้ผล เพราะมองเห็นประกายไฟ ทำให้คนร้ายตกใจกลัว ยอมเชื่อฟังตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ แต่ปืนจี้ไฟฟ้านี้มีข้อจำกัดในการใช้งาน และสังคมก็มักจะมองว่าเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการทรมานผู้ต้องหา จึงถูกระงับใช้ในกิจการตำรวจ ต่อมาได้มีการคิดค้นปืนยิงลูกดอก ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่า ปืนจี้ไฟฟ้าก็เลยเสื่อมความนิยมลงไป
ปืนยิงลูกดอกไฟฟ้าถูกคิดค้นขึ้นโดยนาย Jack Cover ในปี ค.ศ.1976 และทดลองใช้งานในปี ค.ศ.1978 นาย Jack คนนี้เป็นแฟนหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ Tom Swift จึงตั้งชื่ออาวุธว่า Thomas A. Swift Electric Rifle นิยมเรียกย่อว่า Taser
ปืนยิงลูกดอกนี้ความจริงไม่ใช่ปืนยาว (Rifle ) แต่เป็นปืนพกใช้แบตเตอรี่นิเกิลแคตเมี่ยมหรืออัลคาไลน์ ที่ใช้ยิงลูกดอกซึ่งติดอยู่ที่ปลายเส้นลวด ลูกดอกพุ่งออกไปโดยใช้แรงดันแก๊สหรือชนวนท้ายแบบดินปืนน้อย ความเร็วต้นของลูกดอกอยู่ในช่วง 200 ฟุต/วินาที
เมื่อลูกดอกถูกยิงออกไปจะปักติดกับผิวหนัง หรือเสื้อผ้าของคนร้าย มีเส้นลวดต่อจากลูกดอกยาว 15-20 ฟุต ติดกับตัวปืนทำหน้าที่เป็นสายไฟฟ้า เมื่อดึงลูกดอกที่ปักในตัวผิวหนังของคนร้ายออก ก็จะมีรอยแผลเหมือนกับโดนผึ้งต่อย แทบจะไม่มีริ้วรอยหรือการบาดเจ็บเลย กระแสไฟที่ส่งผ่านเส้นลวดไปยังคนร้าย ( ประมาณ 50,000 โวลท์ ) ยังสามารถกด ปิด/เปิด โดยสวิทช์ที่ไกปืนอีกด้วย
ทั้งปืนจี้ไฟฟ้ากับปืนยิงลูกดอกไฟฟ้า มีน้ำหนักเบา พกพาสะดวก ติดเข็มขัด เหน็บเอวได้ แต่ปืนยิงลูกดอกไฟฟ้า ทำงานที่ระยะห่าง 15-20 ฟุต ไกลกว่า ปืนจี้ไฟฟ้า กระบอง และ สเปรย์พริกไทย ซึ่งต้องใช้ระยะประชิด
แม้ว่าเครื่องช็อคไฟฟ้านี้ จะสามารถสยบคนร้ายได้ทันที แต่จากสถิติ และผลการใช้งาน ปรากฏว่าไม่แน่นอน 100 % ว่าจะได้ผลดี ปัญหาสำคัญก็คือ ความหนาของเสื้อผ้าคนร้าย นอกจากนี้ระยะหวังผลขึ้นอยู่กับทักษะการเล็ง
ปืนยิงลูกดอกไฟฟ้าบรรจุกระสุนได้ทีละ 1-2 นัด ในสถานการณ์ตึงเครียดแทบจะไม่มีโอกาสบรรจุกระสุนอีกเลย อีกทั้งปืนยิงลูกดอกไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ทางไฟฟ้าผสมกับทางกล ต้องดูแลรักษาอย่างดี โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ทั้งยังไม่สามารถใช้ในสภาพแวดล้อมที่มีไอสารระเบิดหรือแก๊สธรรมชาติได้
ในประเทศอเมริกา มีหลายรัฐ ได้ศึกษาปืนจี้ไฟฟ้าและปืนยิงลูกดอกไฟฟ้า ปรากฏว่ามีทั้งยอมรับและไม่ยอมรับอาวุธดังกล่าว เหตุผลที่ไม่ยอมรับประการสำคัญก็คือ เกรงว่าเจ้าหน้าที่จะนำไปใช้ในทางมิชอบ เนื่องจากเคยมีเหตุการณ์ในอดีต เช่น คดีนาย Rodney King ซึ่งเป็นชาวอเมริกันนิโกร ในระหว่างการจับกุมนาย Rodney ซึ่งอยู่ในอาการเมาสุรา เจ้าหน้าที่ยิงลูกดอกซ้ำหลายครั้ง และตีซ้ำหลายครั้ง ปรากฏว่านาย Rodney ยังทนได้ ซึ่งคดีนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมว่าตำรวจกระทำรุนแรงเกินเหตุ จนเป็นชนวนนำไปสู่การจลาจลในเมืองลอสแองเจลิส ในปี ค.ศ.1992 และยังมีคดีอื่น ๆ อีกหลายคดีที่เจ้าหน้าที่ใช้ปืนจี้ไฟฟ้าในการทรมานผู้ต้องหา

4. แก๊สน้ำตา ( Tear gas)
ความจริงแก๊สน้ำตาไม่ได้เป็นแก๊ส แต่เป็นผงเคมีละเอียดชนิดหนึ่ง มี 2 สูตร ที่ใช้ในกิจการตำรวจ คือสูตร CN ( Chloroacetophenone ) และสูตร CS ( Orthochlorbenzalmalononitrile) ทั้ง 2 สูตร มีความแตกต่างกันในด้านประสิทธิภาพ
แก๊สน้ำตาสูตร CN ประดิษฐ์โดยนักเคมีชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ.1969 ถูกใช้ร่วมกับแก๊สพิษ คือแก๊สมัสตาร์ด ( mustard gas ) กับ แก๊สคลอรีน ( Chlorine gas ) ในสงครามโลกครั้งที่ 1 แก๊สนี้มีผลให้บริเวณร่างกายที่มีความชื้นเกิดอาการแสบร้อนและคัน น้ำตาไหลและหนังตาปิด และระคายเคืองต่อระบบหายใจ แม้ว่า แก๊สน้ำตาสูตร CN จะอ่อนกว่าแก๊ส ทั้ง 2 ชนิด แต่ก็สามารถสยบคนร้ายได้รวดเร็วภายใน 1-3 วินาที
แก๊สน้ำตาสูตร CS พัฒนาขึ้นโดยประเทศอังกฤษ ในสงครามไซปรัส ปี ค.ศ.1961 มีความรุนแรงกว่า สูตร CN แต่คงอยู่ได้นานกว่า แก๊สน้ำตาสูตร CS จะสยบคนร้ายได้ภายใน 3-7 วินาที ผลของ มันจะทำให้เกิดน้ำตาไหลพราก หนังตาปิด ผิวหนังแสบร้อนอย่างมาก น้ำมูกไหล มีอาการแน่นหน้าอก สำลัก และมึนงงด้วย
แม้ว่า แก๊สน้ำตาสูตร CS จะมีอำนาจรุนแรงมากกว่า แต่ก็มีอันตรายกว่า เพราะถ้าใช้ความเข้มข้นมากอาจถึงตายได้ เพื่อความปลอดภัยจึงนิยมใช้ สูตร CN
แก๊สน้ำตานั้นมีทั้งแบบลูกระเบิดขว้าง ( grenade) และแบบกระสุนยิง (cartridge) แก๊สน้ำตาเหมาะกับสถานการณ์ ( ก ) ควบคุมฝูงชน (ข) ยิงหรือโยนใส่คนร้ายที่อยู่หลังสิ่งกีดขวางเพื่อสร้างความได้เปรียบแก่หน่วยที่เข้าจู่โจม ( ค) ใช้โดยตรงต่อกลุ่มคนร้าย
แก๊สน้ำตาเป็นอาวุธไม่ถึงตาย เป็นที่ยอมรับแพร่หลายทั่วไป เพราะมีความปลอดภัยดีมาก แก๊สน้ำตาใช้ได้ผลดีมากในการควบคุมฝูงชน หรือในการสยบคนร้ายในที่กีดขวาง
แม้ว่าแก๊สน้ำตาจะทำงานได้ไว แต่ก็ไม่สามารถทำให้คนร้ายสยบได้ทันที ต้องรอเวลาอีกเล็กน้อย แก๊สน้ำตาแบบระเบิดขว้างอาจทำให้เกิดไฟไหม้ได้ เพราะต้องใช้ความร้อนเผาให้ปล่อยสารเคมีพ่นออกจากกระป๋อง จึงเหมาะกับการใช้งานในที่โล่ง ถ้าใช้ในอาคาร มีโอกาสผิดพลาด เกิดอันตรายได้
ข้อเสียของแก๊สน้ำตาที่สำคัญก็คือ อนุภาคหรือผงเคมีไม่ค่อยยอมตกลงพื้น แต่จะลอยพัดไปตามลม ผู้ใช้งานจึงต้องสวมหน้ากากด้วย นี่คือปัญหา เพราะคนที่ไม่เกี่ยวข้องเช่นไทยมุงก็จะได้รับแก๊สน้ำตาไปด้วย
ปัญหาอีกอย่างหนึ่งของแก๊สน้ำตาคือสารเคมีเปรอะเปื้อน ต้องใช้น้ำมากในการทำความสะอาด ต้องถ่ายเทอากาศฯลฯ

5. เครื่องยิงกระสุนยาง ( projectile launcher )
เครื่องยิงกระสุนยางมีหลายแบบ ใช้กระสุนพิเศษต่างๆ กัน หลักการก็คือ กระสุนที่ยิงออกไปจะต้องสามารถส่งผล ทำนองเดียวกับ การต่อยแรง ๆ ทำให้คนร้ายสลบ โดยไม่ทำให้เกิดบาดแผลอันตรายมากเหมือนกับกระสุนจริง กระสุนที่ใช้มักจะทำด้วยยาง หรือ พลาสติกอ่อน
เครื่องยิงบางแบบ สามารถใช้ยิง กระสุนแก๊สน้ำตาก็ได้ หรือยิงกระสุนยางก็ได้ ความแม่นยำและระยะหวังผลขึ้นอยู่กับชนิดกระสุน และความชำนาญ
ข้อดีของเครื่องยิงกระสุนยาง เทียบกับอาวุธไม่ถึงตายอื่น ๆ ก็คือ ระยะส่วนมากใช้ระยะประชิด แต่เครื่องยิงกระสุนยางมีระยะหวังผลไกลกว่ามาก ข้อนี้กลับเป็นข้อเสียเพราะความแรงของกระสุนตอนยิงระยะใกล้อาจรุนแรงถึงตายได้ ผู้ใช้งานจึงต้องมีความชำนาญสูง เพราะต้องเข้าใจสมรรถนะและอันตรายของเครื่องยิงและกระสุน และต้องยิงได้แม่นยำ

6. อาวุธชนิดอื่น ๆ
ยังมีอาวุธอื่น ๆ ที่ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาและอยู่ระหว่างการพิจารณายอมรับมาใช้ในกิจการตำรวจ เช่น เครื่องยิงแห (net launching / capture device) ปืนยิงโฟม (sticky foam gun) ปืน Taser ไร้สาย ( wireless taser ) เครื่องยิงกระสุน RAG (ring airfoil grenade) เป็นต้น
เครื่องยิงแหใช้หลักการเดียวกับการไล่จับสัตว์ป่าในหนังสารคดีสัตว์ป่า เป็นเครื่องยิงใช้พลังแก๊สหรือลมขับและดันแหไปคลุมตัวคนร้าย เพื่อให้การห่อหุ้มดีขึ้น แหบางแบบผสมโฟมเหนียว บางแบบมีไฟฟ้า ผลการทดสอบเครื่องยิงแห ยังพบอุปสรรคในการใช้งานหลายประการ ตั้งแต่ความเทอะทะ พกพาลำบาก เหน็บเอวไม่ได้ ระยะหวังผลราว 20 ฟุต ก็น้อยเกินไป ส่วนมากมักจะยิงพลาดเป้า หรือแม้จะถูกเป้าแต่คนร้ายก็สามารถปลดเปลื้องได้รวดเร็ว
การพัฒนาโฟมเหนียวเริ่มขึ้นในราวปี ค.ศ.1992 ในอเมริกา ณ ห้องปฏิบัติการแซนเดีย ( Sandia National Laboratories) บางทีเรียกว่าปืนกาว ( Glue Gun ) ลักษณะของปืนจะเป็นแบบเครื่องยิง และถังโฟม น้ำหนักรวม 32 ปอนด์ ยิงได้หลายนัด และระยะยิงไกลไปถึง 35 ฟุต เมื่อยิงออกไป โฟมเหนียวขยายตัวออก 30 เท่า อย่างไรก็ดี ผลการทดสอบพบว่ามีปัญหาตรงที่ใช้งานไม่สะดวกและไม่ได้ผล

บทสรุป
ตราบจนทุกวันนี้ มนุษย์เราก็ยังคิดค้นอาวุธไม่ถึงตายที่สมบูรณ์แบบ มาใช้สำหรับกิจการตำรวจไม่สำเร็จ ถ้าหากค้นพบแล้วจริง อาวุธดังกล่าวนี้ คงจะมีรูปร่างเหมือนกับปืนรังสี (หรือ Phaser) ในนิยายวิทยาศาสตร์ เรื่อง “Star Trek”
จะเห็นว่า ปืนรังสีในหนัง สามารถใช้หยุดยั้งคนร้ายได้ ในระยะหวังผล ถ้าตั้งไว้ที่ตำแหน่งช็อค ( “Stun ” ) ก็จะสยบคนร้ายได้ เป็นอาวุธไม่ถึงตาย หรือจะตั้งไว้ที่ตำแหน่งฆ่า ( “ Kill ” ) ก็จะเป็นอาวุธถึงตาย
อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีอาวุธไม่ถึงตายจะมีการพัฒนามากขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าในอนาคตสักวันหนึ่ง มนุษย์เราจะมีอาวุธวิเศษ (wonder weapon) ที่พกพาสะดวกมาใช้แทนกระบองหรือปืน
ถึงอย่างไร เราต้องไม่ลืมว่าอาวุธเหล่านั้น ออกแบบคิดค้นเพื่อแสวงหากำไรซึ่งผู้ผลิตย่อมต้องการที่จะขายของ ๆ ตน อาวุธที่ผลิตขึ้นมาบางอย่างได้ทดลองใช้แล้ว แทบจะเรียกได้ว่า ในการปฏิบัติมีประโยชน์น้อยมาก หรืออาจใช้ได้ในบางสถานการณ์เท่านั้น เหตุผลหนึ่งก็คือออกแบบโดยไม่เข้าใจสถานการณ์จริง ๆ ที่ตำรวจประสบ ดังนั้น ตำรวจจึงยังต้องพึ่งพาอาวุธถึงตาย ( คือปืน ) อยู่
อาวุธไม่ถึงตายในอุดมคติ จะต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้ คือ
1. ต้องทำให้คนร้ายหมดสภาพ (incapacitate) ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ไม่เกิดนานมาก แต่นานพอที่จะเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่เข้าชาร์จ/ควบคุม/จับกุมได้ทัน
2. มีบาดแผล และบาดเจ็บเล็กน้อย
3. ช่วยให้เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวได้ทันที (instantaneous control)
4. ใช้กับคนบ้าหรือพวกที่ทนต่อความเจ็บปวดได้
5. สังเกตได้ว่ามีอาการ เพื่อให้แน่ใจว่าอาวุธนั้นใช้งานได้
6. มีผลเฉพาะผู้ที่เป็นเป้าหมายเท่านั้น คนอื่นไม่ได้รับผลของอาวุธไปด้วย


@@@@@@@@@@@@@@@@@


เอกสารอ้างอิง

1. “ THE EVOLUTION AND DEVELOPMENT OF POLICE TECHNOLOGY ” , SEASKATE INC. , MINISTRY OF JUSTICE (JULY 1998).
2. “ USE OF FORCE COMMITTEE FINAL REPORT ” , TORONTO POLICE CANADA ( MAY 1998 )
3. สกู๊ปหน้า 1 นสพ. เดลินิวส์ ( 23 ธ.ค. 2545 )
4. หนังสือเวียน ที่ นร.0205/ว117 ลงวันที่ 9 ส.ค.2545 เรื่องหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้อง

No comments: