มาจัดระเบียบตำรวจกันเถิด
30 มิถุนายน 2545
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราขยันจัดระเบียบสังคมกัน แล้วเราก็หยุดขยันสักพัก เพื่อรอเวลาขยันใหม่ ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่น่าแปลกคือ ที่เรามองเห็นว่า มท.1 จัดระเบียบสถานบันเทิงนั้น นอกจากเร่งรัดการบังคับใช้กฏหมายที่ตำรวจ(แกล้ง)ลืมแล้ว ความจริง ท่านจัดระเบียบตำรวจไปด้วย แต่ไม่มีใครเรียกว่า “ จัดระเบียบตำรวจ ”
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องต่อไปนี้ ร่วมมือกันผลักดัน ช่วยกันจัดระเบียบตำรวจ ให้ตำรวจมีความพร้อมปฏิบัติงาน คือ
1. ตำรวจท้องที่ และตำรวจผู้กำหนดนโยบาย
2. ประชาชนผู้ที่ประสบความเดือดร้อนจากอาชญากรรม
3. สื่อต่างๆ และนักวิชาการที่ปรารถนาให้ตำรวจทำงานอย่างมีประสิทธิผล
4. ภาคธุรกิจ นักวิชาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ตลอดจนผู้ประกอบการทั้งหลาย
ภารกิจตำรวจนั้น นับวันก็จะเริ่มจะเจาะจงเฉพาะงานตำรวจแท้ๆ ที่ต้องใช้ฝีมือตำรวจ ไม่ใช่ทำงานจับฉ่าย แบบครอบจักรวาลอีกต่อไป ตั้งแต่แยกงานหนังสือเดินทางออกไป แยกงานทะเบียนรถยนต์ออกไป และอะไรๆอื่นๆที่อาจจะแยกไปอีก ก็จะเหลือภารกิจสำคัญของตำรวจซึ่งก็คือ ต่อสู้อาชญากรรม และรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่รับแจ้งเหตุ ..ไปจนถึงจัดระเบียบจราจร และงานที่ต้องใช้ความสามารถพิเศษ เช่น สืบสวน ตามล่าคนร้าย ปราบจลาจล ควบคุมฝูงชน งานประเภทหลังนี้ค่อนข้างเสี่ยงชีวิตกว่าประเภทแรก
นโยบายรัฐบาลทักษิณด้าน “ความปลอดภัยของประชาชน” แถลงไว้เมื่อต้นปี 2544 ว่า
(๑) ดูแลให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมุ่งเน้นมาตรการทั้งการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทุกประเภท พร้อมทั้งจัด ระบบป้องกันสาธารณภัยและอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทันท่วงที
(๒) สนับสนุนให้ ประชาชนมีส่วนร่วม ในการป้องกันอาชญากรรมและสาธารณภัยใน ชุมชนและท้องถิ่นของตนเอง
ตำรวจกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
ในบรรดาหน่วยงานต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรม ตำรวจจะอยู่ใกล้ชิดวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมากกว่าหน่วยอื่น (ไม่ว่าจะเป็น ฝ่ายนิติบัญญัติ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ หรือทนาย) แต่ปรากฏว่า กลับใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเฉพาะในคดีอุกฉกรรจ์ แต่มองข้ามการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในงานพื้นฐาน โดยเฉพาะงานบริการประชาชน
ตำรวจไทยจัดตั้งระบบรับแจ้งเหตุหมายเลข 199 และ 191 มากว่า 20 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินก็ยังกระจุกอยู่แต่ในกรุงเทพฯ ขยายไปต่างจังหวัดไม่ค่อยสำเร็จ แต่กลับมีบริการทางหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉินแจ้งเกิดอีกหลายเบอร์ จัดเบอร์ฉุกเฉินให้ประชาชนจำหลายๆ เบอร์จนสับสนไปหมดจนไม่รู้จะโทรเบอร์ไหน ดีไม่ดีโทรไปแล้วอารมณ์เสีย ทะเลาะกันไปอีก ไม่มีประเทศไหนเขาปล่อยเบอร์ฉุกเฉนออกมาเยอะแยะจนเปรอะอย่างนี้
เบอร์โทรศัพท์ 191 ของตำรวจในต่างจังหวัดแทบทั้งหมด ยุ่งเหยิงและวุ่นวาย ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้เลย เพราะโทรไม่ติดบ้าง โทรติดแล้วก็ไม่มีผู้รับสาย ตำรวจยกหูไว้เฉยๆไม่ยอมรับสาย หรือบางคนโชคดีโทรติดแต่ปรากฏว่าไม่ใช่ท้องที่รับผิดชอบของโรงพักนั้น ฯลฯ สารพันปัญหา ว่างั้นเถอะครับ
ไม่ใช่แค่นี้ เชื่อไหมครับว่า ตำรวจเริ่มมีทั้งคอมพิวเตอร์และทั้งวิทยุสื่อสารมาก่อนหน่วยงานอื่นในประเทศไทย (ตั้งแต่ต้นทศวรรษ พ.ศ.2510) แต่ก็ยังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหน มันน่าศึกษาวิจัยจริงๆ ว่าอะไรเป็นจุดอ่อน.....the weakest link? ทำไมเทคโนโลยีกับตำรวจจึงไปด้วยกันไม่ค่อยได้ เชื่อว่าท่านนายกฯ ของเรามีคำตอบอยู่ในใจแน่นอน พันเปอร์เซนต์ เพราะท่านเคยเป็นตำรวจในสายเทคโนโลยีนี้
ยิ่งมีผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจ หรือเพิร์ค (PERC) รายงานเรื่องตำรวจและยุติธรรมของไทย พบว่าไทยอยู่รองบ๊วยในเอเชีย ตำรวจไทยความรู้น้อย รายได้ก็น้อย แถมความรู้ทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ของตำรวจไทยแทบไม่มีเลย !! …….เหลือเชื่อ!! ทั้งๆที่ตั้งกองพิสูจน์หลักฐานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 เป็นเวลา 70 ปี!! แล้วครับ
ความจริง ตำรวจก็ได้พัฒนางานบริการประชาชน โดยเฉพาะสถานีตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง เริ่ม พ.ศ.2537 จาก “โรงพักของเรา ” มาเป็น “โรงพักเพื่อประชาชน” ในปัจจุบัน ซึ่งนับว่าประสบผลสำเร็จพอสมควรในมุมมองของตำรวจ แต่ถามว่าในมุมมองของประชาชนเป็นอย่างไร ยังตอบไม่ได้ คงต้องรอดูผลการประเมินความเห็นของประชาชน
ลองหันไปฟังเสวนาที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์จัด เรื่อง “ตำรวจไทยยุค 2001 : ทิศทางที่ควรจะไปเพื่อประชาชน” เมื่อ 5 เม.ย.2544 ท่านวิทยากรบางท่านชี้ว่า ตำรวจในสายตาประชาชนมีภาพเป็นลบ ใช้กฏหมายเพื่อแสวงประโยชน์ให้ตนเอง ใช้อำนาจกลั่นแกล้งประชาชน...... บางท่านก็กล่าวว่าตำรวจมีเงินเดือนน้อย ด้อยสวัสดิการ ......ฯลฯ วิทยากรอาจจะมีทัศนะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ทั้งหมดก็ต้องการให้ไปในทิศทางเพื่อประชาชน
จะจัดระเบียบตำรวจอย่างไร
ที่สหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหาเหมือนกันครับ กว่าจะมาเป็นสุดยอดของโลกทุกวันนี้ ลองดูปัญหาของตำรวจสหรัฐสักหน่อย ในปี ค.ศ.1964 ได้มีการยกปัญหาอาชญากรรมขึ้นมาเป็นประเด็นหาเสียงในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี
สถานภาพอาชญากรรมของสหรัฐอเมริกาขณะนั้น คือเพิ่ม 2 เท่าจากปี ค.ศ.1940 ถึง 1965 ดูเหมือนว่าจะไม่มาก แต่มันเพิ่มเร็วกว่าอัตราเพิ่มประชากรถึง 5 เท่า!! เฉพาะปี ค.ศ.1964 ปีเดียว อัตราเพิ่มอาชญากรรมราว 13 % หลังจากที่ได้รับเลือก ในปี ค.ศ.1967 ประธานาธิบดีจอห์นสัน จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเรียกว่า คณะกรรมการด้านตำรวจและบริหารงานยุติธรรม (President’s Crime Commission on Law Enforcement andAdministration of Justice) เพื่อศึกษาปัญหานี้
คณะกรรมการชุดนี้ ได้รายงานว่า วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศมีความทันสมัย (คือช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น) มีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก แต่กลับมีผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมเพียงเล็กน้อยจนน่าประหลาดใจ เหตุผลที่เขาพบก็คือ คนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมกับคนที่อยู่ในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ห่างเหินต่อกันไม่มีความร่วมมือกัน ผลก็คือ การประยุกต์เทคโนโลยีมาใช้ในกิจการตำรวจเป็นไปได้ช้าเกินไป
ในรายงานของคณะกรรมการชุดนี้ ยังบอกด้วยว่า “ ....แม้ตำรวจ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (Crime Laboratories) และเครือข่ายวิทยุสื่อสาร (Radio Networks) จะได้นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ก็จริง แต่ก็น่าจะได้มีใช้มาก่อนหน้านี้สัก 30-40 ปีเสียด้วยซ้ำ...... ”
ในยุคนั้น มีตำรวจคนหนึ่งพูดประชดไว้น่าฟังว่าอย่างนี้ “ ศูนย์ควบคุมที่ฐานยิงจรวดพูดกับนักบินอวกาศบนดวงจันทร์ได้ แต่ผมเรียกเพื่อนตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ห่างแค่บล็อกถนนถัดไปไม่ได้ ” แปลว่า มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว แต่มีปัญหาในการปรับใช้ในกิจการตำรวจ
ในรายงานนี้ได้มีข้อเสนอแนะอยู่ 12 ข้อ ในจำนวนนี้มี 5 ข้อที่เกี่ยวข้องกับวิทยุสื่อสาร อีก 7 ข้อ นอกนั้นเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านลายพิมพ์นิ้วมือ ด้านการจัดสรรกำลังตำรวจ (manpower allocation) การติดตั้งตู้โทรศัพท์แจ้งเหตุ (police callboxes) การศึกษาเปรียบเทียบด้านอาชญากรรม การจับกุม และการสืบสวนในท้องที่
ในบรรดาข้อเสนอแนะทั้งหมดนี้ มีอยู่สิ่งหนึ่งที่ต่อมาได้มีการปรับปรุงพัฒนาอย่างกว้างขวาง(เพราะเป็นบริการพื้นฐานที่สุดที่ตำรวจมอบให้สังคม) สิ่งนั้นคือ ระบบรับแจ้งเหตุ 911 ร่วมกับการใช้คอมพิวเตอร์ (911 dispatch and computerization)
การเปลี่ยนแปลงในเรื่อง ระบบรับแจ้งเหตุ 911 และส่งตำรวจออกปฏิบัติ (911 dispatch) ในปี ค.ศ.1968 ครั้งนั้น เท่ากับเป็นการปฏิวัติงานบริการของตำรวจอย่างขนานใหญ่ การพัฒนางานบริการของตำรวจเกิดขึ้นทั้งประเทศอย่างต่อเนื่อง เพียงไม่กี่ปีก็ครอบคลุมเมืองใหญ่ทุกเมืองในสหรัฐอเมริกา ยิ่งในปัจจุบันนำระบบ 911 ไปเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ด้วย ยิ่งทำให้ตำรวจค้นข้อมูลได้รวดเร็ว
และเดี๋ยวนี้เขายกระดับไปเป็น E911 (enhanced 911) แล้ว เขาสามารถรู้ทั้งเบอร์โทรศัพท์ ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์บ้านหรือมือถือ ทั้งตำแหน่งที่อยู่ แทบจะรู้ชื่อเจ้าของเบอร์ด้วยซ้ำ
ตอนแรกๆที่เอาระบบ 911 มาใช้ งานรับแจ้งเหตุเป็นภาระที่แสนโหด เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่จิ๊บจ๊อยแค่ไหน ก็ต้องบริการทั้งนั้น มิฉะนั้น สังคมและสื่อต่างๆจะร้องเรียนและรุมประณาม ไม่เพียงเท่านั้น ภาระของตำรวจสายตรวจที่ลาดตระเวนในพื้นที่ก็เพิ่มตามไปด้วย เคยทำงานสบายๆอยู่ดีๆ ก็เริ่มเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า เพราะต้องถูกส่งออกไปให้วิ่งรอกจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
ตอนขึ้นต้นเป็นการนำระบบ 911 มาช่วยงานบริการประชาชน แต่พอใช้ไปเรื่อยๆ กลับกลายเป็นระบบที่บังคับตำรวจให้ทำงานอย่างมีคุณภาพ ผลที่สุดประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่กับทั้งตำรวจผู้ให้บริการ และประชาชนผู้รับบริการ เดี๋ยวนี้สหรัฐอเมริกาขาดระบบ 911 ไม่ได้เพราะกลายเป็นสิ่งจำเป็นเสียแล้ว
นาย ลี พี บราวน์ (Lee P. Brown) ซึ่งอดีตเคยเป็นหัวหน้าตำรวจในหลายเมืองในสหรัฐอเมริกา เขียนไว้ในปี ค.ศ.1989 ว่า “….. ยากที่จะให้ตำรวจบริการที่มีคุณภาพ (the level and quality of services the community deserves) แก่ประชาชนได้ โดยปราศจากการใช้เทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยจัดการส่งตำรวจออกปฏิบัติในพื้นที่ (computer-aided dispatch) คอมพิวเตอร์ในรถสายตรวจ ระบบลายพิมพ์นิ้วมืออัตโนมัติ ระบบรายงานการทำผิดกฏหมายโดยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น....... ”
การพัฒนาเทคโนโลยีตำรวจที่น่าสนใจ
(ตาราง)
ความร่วมมือ
นโยบายรัฐบาลด้านความปลอดภัยของประชาชนข้อ 1 ยังไม่มีใครเร่งรัดดำเนินการ “จัดระบบป้องกันสาธารณภัยและอุบัติภัยอย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทันท่วงที” แล้วเราจะทำอย่างไรดีครับ ประเทศไทยเราก็ยังไม่มีคณะกรรมการระดับชาติมาดูแลเรื่องอาชญากรรม ในระดับผู้บริหารประเทศก็ยังแบ่งสรรอำนาจในกระบวนการยุติธรรมไม่ลงตัว ยังไม่มีใครยกเรื่องประโยชน์ของบริการรับแจ้งเหตุทางโทรศัพท์ 191 ขึ้นมาพิจารณา คงต้องให้ประชาชนโทรไป รายการวิทยุ “ร่วมด้วยช่วยกัน”หรือ “จส.100” หรือ “สวพ.91” แล้ว ทางรายการค่อยแจ้งขอความช่วยเหลือตำรวจอีกทอดหนึ่ง
คนไทยเรารักกัน เอื้อเฟื้อต่อกัน ช่วยเหลือกันยามเดือดร้อน ก็ช่วยกันเองไปก่อน หน้าที่อย่างนี้ต้องเป็นงานของตำรวจ ทำใจเย็นๆรอดูไปก่อนดีไหม ให้อำนาจไปแล้ว ถ้ายังไม่ทำอะไร เดี๋ยวมีคนเอาอำนาจไปให้หน่วยอื่น ตำรวจจะเสียเวลาไปตามเอาคืนมาเปล่าๆ
หรือว่าในระหว่างรอ เอาอย่างนี้ดีกว่าครับ ขอให้ตำรวจท้องที่ และตำรวจผู้กำหนดนโยบาย ที่มองเห็นประโยชน์ ประชาชนผู้ที่ประสบความเดือดร้อนจากอาชญากรรมช่วยเรียกร้องให้ยกระดับคุณภาพบริการจากตำรวจ แล้วก็สื่อต่างๆ และนักวิชาการที่ปรารถนาให้ตำรวจทำงานอย่างมีประสิทธิผลตลอดจนภาคธุรกิจ นักวิชาชีพในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และผู้ประกอบการทั้งหลาย ช่วยกันนำเสนอเทคโนโลยีหรือจัดหาระบบที่ว่านี้มาใช้บริการประชาชน ช่วยกันจัดระเบียบตำรวจกันหน่อยเถิดครับ
****************
ที่มาข้อมูล:
1. นโยบายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณฯ แถลงต่อรัฐสภา เมื่อ 26 ก.พ.2544
2. เดลินิวส์ 3-4 มิ.ย.2545 หัวข้อข่าวหน้าหนึ่ง “ ตีแสกหน้าไทย ตร.-ยุติธรรม รองบ๊วยเอเชีย ” และ “ รับตำรวจเรียนน้อยเลยทุจริต ”
3. The Evolution and Development of Police Technology: National Institute of Justice 1998.
4. http://www.ipoll.th.org/article/police2001/police2001.htm
5. http://ems.fire2rescue.com/articles1.html
No comments:
Post a Comment