มาเติมมารยาทให้สังคมไทยกันเถิด
สิงหาคม 2550
นับตั้งแต่มนุษย์เรารู้จักเอาพลังงานมาใช้ประโยชน์ ไฟฟ้าทำให้ชีวิตของพวกเราสะดวกสบายมากขึ้น น้ำมันช่วยให้เราเดินทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น โอกาสที่จะมีชีวิตอิสระ อยู่กันห่างๆ เหมือนในอดีตก็น้อยลง เราต้องใช้ชีวิตอยู่ใกล้ๆกัน ความห่างกันจะน้อยลงๆ วิถีชีวิตสมัยใหม่เปลี่ยนไป มนุษย์เราจึงต้องใช้ชีวิตร่วมกันมากกว่าเดิม
การที่เรามาอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน คอนโดเดียวกัน ซอยเดียวกัน อาคารเดียวกัน ที่ทำงานเดียวกัน ไปเดินช็อปปิ้งในห้างเดียวกัน ดูหนังโรงเดียวกัน กินข้าวร้านเดียวกัน ทำให้เราจำเป็นต้องใช้สิ่งของบางอย่างร่วมกัน เช่น ถนน ที่จอดรถ ลิฟท์ บันได บันไดเลื่อน รถไฟฟ้า รถโดยสาร รถเมล์ ทางเท้า ส้วมสาธารณะ สนามเล่นกีฬา ห้องออกกำลังกาย เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่เป็นสาธารณะหรือเสมือนสาธารณะนั่นเอง
ของบางอย่าง (เช่น หาบเร่ แผงลอยบนทางเท้า รุกล้ำที่สาธารณะริมคลอง ) เมื่อไม่ควบคุม ปล่อยปละละเลยให้ใช้กันจนกระทั่ง ผิดกฎหมายกลายเป็นถูก หรือไม่ก็ผ่อนผันยอมให้บ้าง ของบางอย่าง เช่นโทรศัพท์มือถือแม้จะเป็นของส่วนตัว แต่ก็ควรใช้ให้ถูกกาละเทศะ บางเวลาบางสถานที่ควรงดใช้ เพราะเป็นการรบกวนผู้อื่น
สมบัติผู้ดี
มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษาเขาก็มีการถ่ายทอด อบรมสั่งสอนวิธีการอยู่ร่วมกันในสังคมแตกต่างกันออกไป มีกฎ กติกา มารยาท มีระเบียบ หรือวัฒนธรรม ในการใช้สิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกันในชีวิตประจำวันหลายๆอย่าง
เมื่อสัก 50 ปีที่ผ่านมา จำได้ว่ามีการสอนเกี่ยวกับมารยาท อยู่ในหลักสูตรวิชาหน้าที่พลเมือง ศีลธรรม และอ้างอิงหนังสือสมบัติผู้ดี แต่เดี๋ยวนี้ ไม่รู้ยังมีหรือไม่ แปลกเหมือนกัน เรื่องพวกนี้ สอนได้เฉพาะตอนเด็กๆ ถ้าขืนสอนตอนที่โตๆกันแล้ว มีโอกาสเสี่ยงถูกชกปาก หรือไม่ก็โกรธกันไปเลย
ความจริงหนังสือเล่มนี้ คงจะเคยมีปรับปรุงมาบ้าง แต่น่าจะได้ปรับปรุงให้เข้ากับสมัยปัจจุบันแล้วพิมพ์แจกจ่าย จะเปลี่ยนชื่อให้เก๋กว่าชื่อเดิมก็ได้ ถ้ากลัวว่าแจกหนังสือสมบัติผู้ดีแล้ว ความรู้สึกของผู้รับแจกอาจจะเหมือนถูกด่าทางอ้อม
ครับ ทั้งหลายทั้งปวงก็มีสาเหตุมาจากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ คือ ไม่มีความเกรงใจ ไม่มีมารยาท ไม่มีน้ำใจ
น้ำใจคนไทย
เมื่อเดือนมิถุนายน 2549 หนังสือชื่อดัง "รีดเดอร์ส ไดเจสท์" ออกสำรวจ 35 ประเทศทั่วโลก เพื่อดูว่าคนทั่วโลกมีมารยาทแค่ไหน ผลการสำรวจพบว่าส่วนใหญ่ยังคงมีมารยาทและน้ำใจในเกณฑ์ที่น่าพอใจ แต่....ปรากฎว่า
เอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้คะแนนต่ำที่สุด โดยกรุงเทพฯ ได้คะแนนรวมจากการทดสอบอยู่ที่ร้อยละ 45 เป็นอันดับ 25 จาก 35 ประเทศ
และเมื่อเดือน มกราคม 2548 สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สื่อในประเทศนอร์ดิก อันประกอบด้วย นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดจากมหันตภัยสึนามิ เต็มไปด้วยเรื่องราวชื่นชมคนไทยจากปากของพลเมืองทั้ง 3 ประเทศที่รอดชีวิตกลับไปบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องชาวไทยที่ช่วยกันแบกนักท่องเที่ยว ที่บาดเจ็บไปที่ปลอดภัย พร้อมให้ที่พัก อาหาร และแม้แต่เงินแก่ผู้ประสบภัย ........สถานทูตไทยในกรุงสตอกโฮล์ม ก็เต็มไปด้วยโทรสาร โทรศัพท์ และอีเมลแสดงความขอบคุณ สำหรับความช่วยเหลือที่คนไทยมีให้นักท่องเที่ยวสวีเดน
อ่านแล้วยังงงๆ ว่าน้ำใจคนไทยในกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดจะแตกต่างกันขนาดนั้น ผมไม่รู้ว่า "รีดเดอร์ส ไดเจสท์" เขามีวิธีสำรวจอย่างไร แต่ที่แน่ๆ “สยามเมืองยิ้ม” คงจะยิ้มไม่เท่ากันทั้งประเทศแล้วละครับ ต้องตามล่าหาความจริงว่าน้ำใจคนไทยที่กรุงเทพฯแห้งหายไปจริงไหม
รณรงค์ในสิงคโปร์
ผู้เขียนเคยเรียนภาษาญี่ปุ่นมา ก็เลยพอทราบว่า ภาษาญี่ปุ่นเขามีการใช้ไวยากรณ์พิเศษเพื่อแสดงถึงความสุภาพและความเป็นทางการ ซึ่งแตกต่างจากภาษาตะวันตก
สังคมญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในหลายระดับ กล่าวคือ คนหนึ่งมีสถานะสูงกว่าอีกคนหนึ่ง ซึ่งมีปัจจัยที่มากำหนด อาทิ หน้าที่การงาน อายุ ประสบการณ์ และสถานะทางจิตใจ (ผู้คนจะเรียกร้องให้สุภาพต่อกัน) ผู้ที่มีวุฒิน้อยกว่าจะใช้ภาษาที่สุภาพ ขณะที่ผู้ที่มีวุฒิสูงกว่าอาจใช้ภาษาที่เรียบง่าย ผู้ที่ไม่รู้จักกันมาก่อนจะใช้ภาษาสุภาพต่อกัน เด็กเล็กมักไม่ใช้ภาษาสุภาพจนกว่าจะเป็นวัยรุ่น เมื่อโตขึ้น พวกเขาจะพูดภาษาที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
ผู้เขียนเคยไปอบรมอยู่สิงคโปร์มาสัก 2 เดือน ช่วงนั้นเห็นเขารณรงค์เกี่ยวกับ “courtesy” พอดี (courtesy หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน ความเอื้อเฟื้อ มารยาท) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1979-2000 รวมใช้เวลารณรงค์นานถึง 22 ปี คิดว่าน่าสนใจ และคงจะได้ผลดี ไม่งั้นคงไม่ทำต่อเนื่องหลายปี (ไม่แน่ใจว่าเขาจะแข่งกับสยามเมืองยิ้มหรือเปล่า ) ฝากให้ดูโดยผู้เขียนขอแปลเป็นไทยคำ courtesy คำเดียว
========
========
สำหรับพี่ไทย ผมนึกไม่ออกว่า มีรณรงค์เรื่องน้ำใจ หรือมารยาท ทำนองนี้ ในระดับชาติหรือไม่ เมื่อไร ....ถ้าไม่นับเรื่องรณรงค์บริจาคเงินสิ่งของนะครับ อาจจะมีเรื่องการเข้าคิว (ไม่แน่ใจ ....ความจำผมอาจจะเลอะเลือน) เดี๋ยวนี้รัฐบาลนิยมประกาศ “วาระแห่งชาติ” คงต้องรอดูกันว่าจะมีรณรงค์เรื่องวัฒนธรรมอะไรบ้าง
ขับไม่โทร
สิ่งของทางเทคโนโลยีใหม่ เห็นจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กับอินเทอร์เน็ต โลกทุกวันนี้ มนุษย์เราพูดคุยกันและติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น
ประเทศเรา แค่ “ขับไม่โทร” ก็ยังคิดกันไม่ได้ว่าควรจะบังคับเป็นกฎหมาย แล้วคิดกันไม่ออกว่าถ้าขับรถมือเดียวและพูดไปด้วย มันทำให้ความสามารถการขับขี่เสียไปและยังทำให้ผู้อื่นเสี่ยงอันตรายด้วย (ถ้ามีอุปกรณ์ช่วยถือ เช่น แฮนด์ฟรี ก็ยังพอทน)
ถ้าใครคิดว่าโทรแล้ว สมาธิขับรถยังดีอยู่ ขอให้ลองเดินโทรข้ามถนนหรือลองขี่มอเตอร์ไซด์ทดสอบสมาธิดูหน่อย
มารยาทบนอินเทอร์เน็ต
ความจริงการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น ชาวเน็ตเขารู้ว่าทุกเว็บมีกฎกติกามารยาท ที่เรียกว่า “netiquette” กันอยู่แล้ว และยังมีมาตรการลงโทษทางเน็ต คอยควบคุมกันอยู่ด้วย แต่ก็ไม่วายจะมีพวก “เกรียน” ร่วมก่อกวน
เกรียน เป็นศัพท์สแลงแทนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ก่อกวน ไร้เหตุผล หรือคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางของสังคมอินเทอร์เน็ต บุคคลกลุ่มนี้จะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลหรือการวิเคราะห์ไตร่ตรอง
ยังมีพวกอื่นที่ใช้เวทีไซเบอร์ ในการแก้แค้นในเรื่องส่วนตัว โดยโฆษณา เผยแพร่ด้วยข้อความ หรือ รูปภาพ ทำให้คู่กรณีเสียหาย คดีหมิ่นประมาทประเภทนี้ (internet libels) นับวันจะยิ่งมากขึ้น เพราะทำแล้วได้ผลทันใจ และสะใจ
ยิ่งในช่วงเวลาที่สังคมมีความคิดเห็นไม่ลงรอยกันเช่นนี้ การใช้ถ้อยคำโดยพูดหรือใช้ข้อความกล่าวใส่ความกันก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วแต่ว่าใครจะขุดเรื่องมาด่าเก่งกว่า บางคดี ด่าอยู่ฝ่ายเดียวก็มี
Agree to disagree (เห็นพ้องกันบนความเห็นที่แตกต่าง)
คงเคยได้ยินฝรั่งบอกว่า “ Want to avoid a fight? Don’t talk about politics or religion!” คือ อย่าพูดเรื่องการเมืองหรือศาสนา เดี๋ยวจะทะเลาะกัน ผู้เขียนไม่เคยเชื่อ เพราะคนไทยรับฟังได้ทุกเรื่อง ถือคติว่า “ถึงเราไม่เชื่อ เราก็ไม่ลบหลู่” .....สงสัยจะไม่จริงแล้ว เพราะคนไทยเดี๋ยวนี้ไม่ยอมง่ายๆ ถ้ารับไม่ได้ล่ะก็ ขอทะเลาะไม่เลิก
หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าจะเจอคนไทยเราจะแบ่งฝ่ายกันชัดอย่างนี้ เหลียวซ้ายขวาดูคนข้างๆ ก็ไม่แน่ใจว่าเขาอยู่ฝ่ายไหน เป็นสถานการณ์ที่ใครไม่ไว้ใจใคร เรามักจะยึดติดว่า “ถ้าคิดเห็นไม่เหมือนกันถือว่าไม่ใช่พวกเดียวกัน” ถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ ประเทศโดยส่วนรวมคงจะแย่
ต่อไปนี้ เราต้องยอมรับว่าคนมีความคิดเห็นแตกต่างกันได้ ครับแม้แต่ในบ้านเดียวกันยังมีความเห็นต่างกันเลย แล้วครอบครัวก็ยังอยู่ร่วมกันได้ ไม่เห็นจะเป็นไรเลย
สังคมไทยยังจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกหลายอย่าง จำเป็นที่เราจะต้องยอมรับว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้ และต้องสามารถนำความแตกต่างมาพูดกันในที่เปิดเผยอย่างสุภาพได้
มารยาทช่วยได้
มารยาทเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในโลกใบนี้ ก็เพราะมารยาทนี่แหละ...ที่ทำให้คนเราปฏิบัติต่อกันอย่างสุภาพอ่อนโยน ฉะนั้นเราควรสอนมารยาทเสียตั้งแต่ตอนเด็กๆ ทำให้เด็กเห็นตัวอย่างและเอาเหตุการณ์นั้นๆมายกย่อง ชมเชยว่าดี สมควรเอาเป็นแบบอย่าง
แม้แต่ตอน “ดีเบต” ทั้งสองฝ่ายต่างแสดงความเห็นอย่างเผ็ดร้อนได้ แต่ในระหว่างดีเบต ก็แสดงความเคารพในความเห็น (แม้จะแตกต่าง) ของกันและกัน เมื่อจบดีเบต ก็แสดงมารยาทดีต่อกัน
ในยามนี้ นี่แหละครับ นับว่าเหมาะที่สุด ยามที่เราต้องการความสมานฉันท์ ต่อไปเราคงจะมีจัด “ดีเบต” มากขึ้น จัดให้สมานฉันท์ ให้สังคมเห็นว่าเราสามารถ “เห็นพ้องกันบนความเห็นที่แตกต่าง” อย่าจัดแล้วทำให้คนไทยยิ่งแตกแยกกันหนักเข้าไปอีก แต่ละฝ่ายก็เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม (role model) ได้อยู่แล้ว ภาพของความมีมารยาทดีต่อกันจะมีผลดีต่อประเทศไทย
จริงๆนะครับ สังคมไหนไม่มีความเกรงใจกัน ไม่สุภาพอ่อนโยน และไม่มีความเอื้อเฟื้อกัน ทะเลาะเบาะแว้งกันทุกวัน สังคมนั้นไม่น่าอยู่หรอกครับ
No comments:
Post a Comment