Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Sunday, August 22, 2010

หลักฐานนิติเวชก็โกหกได้

หลักฐานนิติเวชก็โกหกได้
โดย วรากรณ์ สามโกเศศ มติชนรายวัน วันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11478

เรื่องราวบันเทิงที่ดูจากโทรทัศน์อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ดูในโลกจริงอย่างร้ายแรงก็เป็นได้ ดังในกรณีของการเชื่อมั่นอย่างผิดๆ ในการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ในคดีอาญาจนอาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องติดคุกหรือถึงกับถูกประหารชีวิตได้
ทีวีซีรีส์ CSI หรือ Criminal Science Investigation ของอเมริกาได้รับความนิยมอย่างยิ่ง คนดูได้ทั้งความรู้ในเรื่องนิติเวช (forensics) ความบันเทิง และความไร้เทียมทานของวิทยาศาสตร์ในการจับคนผิดมาลงโทษ
คำขวัญของผู้เชื่อมั่นในเรื่องหลักฐานทางนิติเวช ก็คือ "พยานโกหกได้ แต่หลักฐานทางวิทยาศาสตร์โกหกไม่ได้" ซึ่งสร้างความสบายใจให้แก่คนเดินถนนทั่วไปที่ไม่คิดจะทำความผิด อย่างไรก็ดีนิตยสาร Popular Mechanics (PM) อันมีชื่อเสียงของโลกในฉบับล่าสุดเดือนสิงหาคม 2009 ให้ข้อเท็จจริงว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ก็อาจโกหกได้เนื่องจากมนุษย์พยายามยัดเยียดให้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ตอบคำถามมากกว่าที่มันจะตอบได้
PM เปิดเผยความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวพันกับคดีไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา หรือคณะลูกขุน (ในประเทศที่ใช้ระบบการพิจารณาคดีเช่นนั้น) และเรียกได้ว่าน่าตกใจเพราะหลายเรื่องตรงกันข้ามกับสิ่งที่พวกเราๆ เข้าใจกันจากการดู CSI และภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่เกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากตัวผู้ตาย จากบริเวณที่เกิดอาชญากรรม จากหลักฐานประกอบคดี ฯลฯ
ในหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานักโทษนับร้อยคนได้รับการปล่อยตัวหลังจากมีการทบทวนหลักฐานทางนิติเวชในเรื่อง DNA
ดังเรื่องของเด็กหนุ่มอายุ 23 ปี ชื่อ Steven Barnes ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี ในข้อหาฆ่าข่มขืนเด็กหญิงอายุ 16 ปี เนื่องจากพบเส้นผม 2 เส้นที่มีลักษณะคล้ายกับผู้ตายอย่างยิ่งในรถของเขา และตัวอย่างดินจากรถของเขาตรงกับดินจากบริเวณที่เกิดเหตุ นอกจากนี้กางเกงยีนของผู้ตายทิ้งรอยนั่งประทับไว้ในรถของเขา
เมื่อปีที่แล้วเขาได้รับการปล่อยตัวหลังจากติดคุกมา 20 ปี จากการพิสูจน์ DNA ของเขากับที่ปรากฏในตัวผู้ตาย
PM ใช้คำยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญว่าหลักฐานทางนิติเวชที่เชื่อถือได้มากที่สุดเพราะมีการศึกษาอย่างกว้างขวางโดยใช้วิชาสถิติสนับสนุนก็คือ การพิสูจน์ DNA (ได้มาจากเลือด เนื้อเยื่อ อสุจิ น้ำมูก น้ำลาย เซลล์ผิวหนัง เซลล์จากอวัยวะของร่างกาย เส้นผม ฯลฯ) โอกาสที่คนสองคนที่มิใช่ฝาแฝดจากไข่ใบเดียวกันจะมี DNA เหมือนกันคือ 1 ใน 1 พันล้านล้าน (เลข 1 และตามด้วยเลขศูนย์ 15 ตัว)
ก่อนหน้าการใช้ DNA หลักฐานสำคัญก็คือเลือดและเส้นผม ในเรื่องเลือดก็ใช้ กรุ๊ปเลือด เรื่องเส้นผมก็ใช้การขยายภาพลักษณะของเส้นผม ความหนาและหยาบของเส้นผม ความกลม รอยแตก สารเคมีประกอบบนเส้นผม ฯลฯ FBI เคยศึกษาและพบว่าความผิดพลาดมีถึงร้อยละ 12.5
กล่าวคือในการวิเคราะห์ 100 กรณีของการนำเส้นผมของเจ้าของและ เส้นผมที่นำมาเทียบเคียงกัน 88.5 รายเท่านั้นที่บอกได้ถูกว่าเป็นของบุคคลเดียวกัน ส่วนเลือดนั้นช่วยได้เพียงทำให้จำนวนของผู้ต้องสงสัยลดน้อยลงหรือตัดผู้ต้องสงสัยบางคนออกไปได้
เรื่องที่ PM บอกว่าอื้อฉาวที่สุดก็เรื่องลายนิ้วมือ ผู้เชี่ยวชาญปัจจุบันบอกว่ายังไม่มี การศึกษาใดที่ระบุได้อย่างชัดแจ้งโดยปราศจากข้อสงสัยว่าลายนิ้วมือมนุษย์คนหนึ่งนั้นไม่เหมือนใครเลย ในโลก อีกทั้งไม่ชัดเจนว่ามันเปลี่ยนแปลงข้ามเวลาได้หรือไม่ และเมื่อกดนิ้วมือด้วยแรงกดไม่เท่ากันจะทำให้รอยนิ้วมือแตกต่างกันได้หรือไม่ เรื่องลายนิ้วมือนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางสถิติอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้นกว่าในปัจจุบันเพื่อยืนยันความแม่นยำของการใช้ลายนิ้วมือเป็นหลักฐาน
อย่างไรก็ดี โลกก็ได้ใช้ลายมือเป็นหลักฐานมายาวนานจนเป็นที่ยอมรับกัน สิ่งที่ PM ต้องการชี้ให้เห็นก็คือมันมีระดับของความเชื่อมันทางสถิติมากน้อยเพียงใด เหตุที่ DNA ได้รับการยอมรับก็เนื่องจากมีการศึกษาจนสามารถกำหนดระดับความเชื่อมันทางสถิติได้ว่าสองสิ่งนั้นมาจากแหล่งเดียวกันหรือเหมือนกัน
ในการใช้ลายนิ้วมือเป็นหลักฐานจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่าสองคนที่มีความเที่ยงธรรมเป็นผู้พิจารณาประกอบกับการใช้ความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ในเรื่องการพิสูจน์ลายนิ้วมือมาช่วย
PM ระบุว่าหลักฐานหลายเรื่องถูกริเริ่มใช้โดยพนักงานทางกฎหมายที่ขาดความรู้พื้นฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และก็เชื่อกันต่อๆ มาโดยขาดการวิจัยอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งในเรื่องความน่าเชื่อถือ (ปัจจุบันศาลสหรัฐอเมริกันรับการพิสูจน์จากการดมกลิ่นของสุนัข น้อยลงมากแล้วเนื่องจากยอมรับกันมากขึ้นในความไม่เที่ยงตรง)
หลักฐานที่ PM บอกว่ามีฐานที่ไม่มั่นคงทางวิทยาศาสตร์ก็คือรอยกัด รอยเท้า รอยยางรถยนต์ ลายมือเขียน แบบแผนรอยเลือด ฯลฯ สำหรับกระสุนปืนจากปืนกระบอกเดียวกันนั้นก็มีเรื่องถกเถียงในเรื่องมาตรฐานของความเหมือนกันของลูกปืนที่ยิงออกมาจากปืนกระบอกเดียวกัน กล่าวคือรอยตำหนิบนลูกปืนตรงที่ใด ลักษณะตำหนิแบบใด จำนวนความเหมือนกันของรอยตำหนิมากเท่าใด ฯลฯ จึงจะถือว่าลูกปืนถูกยิงออกมาจากปืนกระบอกเดียวกัน
ปัญหาที่ PM ระบุเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากรายงานที่สภาผู้แทนราษฎรอเมริกันได้มอบให้ National Academy of Sciences (NAS) ศึกษาในปี 2005 เพื่อตรวจสอบสถานะของหลักฐานทางนิติเวชที่ผู้ใช้กฎหมายใช้กันอยูทั้งประเทศ รายงานดังกล่าวเพิ่งตีพิมพ์ให้สาธารณชนรับทราบเมื่อไม่นานมานี้
รายงานฉบับนี้ระบุว่าสถานะของระบบนิติวิทยาศาสตร์ของประเทศมีความบกพร่องอย่างร้ายแรงและแนะนำให้ใช้หลักฐานจาก DNA แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นเนื่องจากให้ความแน่นอนที่น่าเชื่อถือได้ ปัญหาในเรื่องหลักฐานทางนิติเวชสมควรได้รับการศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้จัดตั้งองค์กรระดับชาติในเรื่องนี้
รายงานฉบับนี้เตือนใจให้ประชาชนได้คิดว่าน่าจะมีคนบริสุทธิ์ติดคุกคดีอาญาเพราะใช้หลักฐานทางนิติเวชบางอย่างที่มิได้อยู่บนพื้นฐานอันมั่นคงทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่รู้ว่าหลักฐานที่ใช้นั้นมีโอกาสผิดพลาดมากน้อยเพียงใด (ในโลกนี้ไม่มีหลักฐานใดที่ให้ความแน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ จำเป็นต้องใช้วิจารณญาณของมนุษย์ประกอบด้วยเสมอ และตัวเลขความเป็นไปได้ของความผิดพลาดจะทำให้สามารถใช้วิจารณญาณได้อย่างถูกต้องเที่ยงธรรมยิ่งขึ้น)
บทเรียนจากเรื่องนี้ก็คือหลายสิ่งที่เราเคยเชื่อมานั้นอาจไม่ถูกต้องก็เป็นได้ และอย่าเชื่อสิ่งที่เห็นในโทรทัศน์ทั้งหมด เช่น เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่อง CSI คือความจริงของโลก ความคล้อยตามโทรทัศน์เช่นนี้ทำให้ปัจจุบันคนลาวและคนเขมรจำนวนไม่น้อยที่ดูโทรทัศน์ไทย เชื่อว่าคนไทยมีบ้านที่ใหญ่โตหรูหรา มีสระว่ายน้ำทุกบ้าน เช่นเดียวกับที่เราเชื่อว่าฝรั่งกินอยู่และมีชีวิตหรูหรากันหมดเหมือนที่เราเห็นในภาพยนตร์จากฮอลลีวู้ด ไม่มีใครรู้ได้ว่าความเชื่อมั่นในเรื่องความเป็นวิทยาศาสตร์ของหลักฐานของคดีอย่างผิดๆ ของผู้เกี่ยวพันในกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันในทุกประเทศทำให้เกิดความเสียหายขึ้นมากน้อยเพียงใด

1 comment:

Anonymous said...

I like [url=http://www.nikeshop.ca/]Nike[/url] and http://www.nikeshop.ca/0reealhy