Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Sunday, August 22, 2010

โจรขยาด....เมื่อตาทิพย์ขยับ


โจรขยาด....เมื่อตาทิพย์ขยับ


ไทยโพสท์......19 สิงหาคม 2553 เวลา 06:03 น.



ระหว่างที่พนักงานธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้างเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า กว่า 10 คน กำลังอยู่ในห้วงอาการวิตก หลังจากที่คนร้ายอายุประมาณ 40 ปี ผิวขาว ลักษณะท้วม สวมเสื้อคลุมซาฟารีสีเหลือง ด้านในสวมเสื้อยืดสีขาวคอสีเข้ม กางเกงสีกากีเข้ม รองเท้าหนัง ในมือมีอาวุธปืน เปิดประตูเหล็กด้านหน้าเดินเข้ามาในธนาคาร พร้อมข่มขู่เอาเงินจนทุกคนต้องยอมเปิดทาง

โดย...วิทยา ปะระมะ

เพียงไม่กี่นาทีคนร้ายบรรจงโกยเงินใส่ถุงสีแดงจำนวน 8.15 แสนบาท ก่อนจะวิ่งหนีออกมาจากธนาคารไปทางด้านหลังห้าง ขับมอเตอร์ไซค์ 4 สูบ สีเหลืองหลบหนีไป
เหมือนทุกอย่างจะเข้าทางโจร ธนาคารถูกปล้นต่อหน้าต่อตาคนในห้าง และคนร้ายได้หนีลอยนวล
แต่รูปพรรณสัณฐาน เสื้อผ้าหน้าผม เครื่องแต่งตัวต่างๆ ถูก “กล้องวงจรปิด” บันทึกไว้โดยละเอียดทุกอิริยาบถ ซึ่งประจวบเหมาะที่คนร้ายเข้าไปยืนตรงมุมกล้องที่สามารถบันทึกโฉมหน้าคนร้ายได้อย่างแจ่มแจ้ง นั่นจึงทำให้เจ้าหน้าที่เอาภาพที่ได้จากกล้องไปเปรียบเทียบกับทะเบียนราษฎร แล้วตามจับได้เพียงชั่วข้ามคืน
หลายต่อหลายคดีที่ตำรวจจำเป็นต้องใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานมัดตัวคนร้ายที่ก่ออาชญากรรม เพราะพยานแวดล้อมไม่สามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้
กล้องทีวีวงจรปิดกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการใช้เฝ้าระวังเหตุและติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี ยิ่งในห้วงที่ประเทศไทยกำลังมีความขัดแย้งและมีการลอบวางระเบิดตามสถานที่สำคัญต่างๆ กล้องวงจรปิดก็ยิ่งทวีความสำคัญช่วยให้ตำรวจทำหน้าที่ได้ง่ายขึ้น
พ.ต.อ.สุชาติ กังวารจิตต์ รองผู้บังคับการกองตำรวจสื่อสาร สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (รอง ผบก.สส.สทส.) ตั้งข้อสังเกตว่าปัจจุบันมีการก่ออาชญากรรมเกิดขึ้นบ่อยครั้งมาก ทำให้ประชาชนไม่ค่อยมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นตำรวจก็จะหาพยานในที่เกิดเหตุแล้วสเกตช์ภาพผู้ต้องสงสัย ปัญหาคือบางครั้งไม่มีพยาน หรือมีพยาน แต่พยานก็บรรยายลักษณะคนร้ายจากมุมมองที่ตัวเองเห็นอย่างเดียว
“จำเรื่องภาพสเกตช์คนร้ายที่ใส่หมวกกันน็อกปล้นร้านทองได้ใช่ไหม เพราะพยานเขาเห็นคนร้ายแบบนั้นจริงๆ เลยต้องสเกตช์ออกมาเป็นรูปแบบนั้น กล้องวงจรปิดมันถึงเป็นตัวช่วยสำคัญอย่างยิ่งที่ใช้จับตาดูพฤติกรรมคนร้ายทั้งช่วงก่อนและหลังเกิดเหตุ อย่างตอนปล้นอาจใส่หมวกกันน็อก แต่ถ้ามีกล้องอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเราก็จะเห็นว่าเขาใส่หมวกตอนไหน ถอดตอนไหนแล้วหน้าตาจริงๆ เป็นอย่างไร”
คดีที่รอง ผบก.สส.สทส. บอกเล่า เป็นเหตุที่คนร้ายปล้นร้านทองใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยคนร้ายซึ่งมีเพียงคนเดียวเป็นชายวัยกลางคน รูปร่างผอมสูง สวมหมวกกันน็อกแบบรถแข่งปิดหน้ามิดชิด สวมเสื้อแจ็กเกตสีน้ำเงิน ได้ขับรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า เวฟ สีแดงดำ ป้ายเหลือง ทะเบียน กกก 473 สงขลา มาจอดหน้าร้าน ก่อนที่จะบุกเข้าไปในร้านและชักอาวุธปืนขนาด 9 มม. ออกมายิงกระจกตู้เก็บทอง 2 นัด
คนร้ายกระโดดข้ามเคาน์เตอร์ไปกวาดทองรูปพรรณที่แขวนอยู่ใส่กระเป๋า และรีบวิ่งออกจากร้านไปสตาร์ตรถจักรยานยนต์ขับหลบหนีไปท่ามกลางสายตาของประชาชนจำนวนมากที่เห็นเหตุการณ์ เนื่องจากอยู่ในย่านชุมชน โดยระหว่างนั้นกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างพยายามใช้ก้อนอิฐขว้างใส่คนร้ายแต่ไม่โดน
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำไมต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด เพราะแม้ว่าจะมีการตรวจสอบทะเบียนรถคันดังกล่าวแล้ว ก็พบว่าเป็นรถที่ถูกขโมยไปเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน และเจ้าหน้าที่วิทยาการได้ตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดที่สามารถบันทึกภาพคนร้ายขณะก่อเหตุไว้ได้ แต่ไม่ได้เบาะแสมากนัก เนื่องจากคนร้ายสวมหมวกกันน็อกปิดบังใบหน้ามิดชิด และสวมถุงมือ
ในขณะที่ภาพจากกล้องวงจรปิดที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่อยู่ตรงข้ามร้านทอง ก็ไม่สามารถจับภาพไว้ได้เช่นกัน เนื่องจากช่วงเวลาเกิดเหตุมีรถยนต์มาจอดบังกล้องเอาไว้
พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่ในกรุงเทพฯ มีกล้องวงจรปิดติดตั้งในจุดต่างๆ ประมาณ 2,000 ตัว อย่างไรก็ตาม ได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาชญากรรมส่วนใหญ่คนร้ายมักจะก่อเหตุที่บ้านหรือที่ส่วนบุคคล ไม่ค่อยก่อเหตุในที่สาธารณะ ดังนั้นหากสนับสนุนให้ประชาชนติดกล้องวงจรปิดในพื้นที่ของตนให้มากๆ ก็จะช่วยให้ตำรวจสืบสวนหาคนร้ายได้ดียิ่งขึ้น
ที่สำคัญ กล้องวงจรปิดของรัฐบางครั้งมีปัญหาเรื่องการบำรุงรักษา กล้องบางตัวใช้งานไม่ได้ แต่หากประชาชนติดตั้งเองก็จะช่วยลดปัญหานี้ลงไปได้ด้วย
“ผมอยากเสนอให้รัฐยกเรื่องกล้องวงจรปิดเป็นวาระแห่งชาติเลย โดยกำหนดให้รัฐรับผิดชอบติดตั้งกล้องในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด ส่วนพื้นที่กึ่งสาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ที่จอดรถ โรงเรียน หมู่บ้าน หรือแม้แต่วัด ต้องออกมาตรการบังคับให้ติดกล้องวงจรปิดทั้งหมด ส่วนที่ส่วนบุคคลหรือภายในบ้าน รัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนให้ประชาชนจัดหากล้องวงจรปิดได้ง่ายขึ้น โดยการทำราคากล้องวงจรปิดให้ถูกลง ทุกวันนี้กล้องราคาประมาณ 2,000 บาท ไปจนถึงหลักหมื่นหลักแสน แต่ถ้าลดให้เหลือประมาณ 500 บาท และเครื่องบันทึกอีก 5,000 บาท ก็น่าจะทำให้ประชาชนหันมาติดตั้งกล้องวงจรปิดภายในบ้านมากขึ้น” พ.ต.อ.สุชาติ กล่าว
ขณะเดียวกัน การติดตั้งกล้องวงจรปิดก็ต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนด้วยว่าต้องการเอามาดูอะไร เช่น ติดเพื่อดูรถก็แบบหนึ่ง แต่ถ้าจะดูทะเบียนรถก็เป็นอีกแบบหนึ่ง เนื่องจากการบันทึกภาพขณะเคลื่อนไหวต้องใช้กล้องที่มีความไวแสงสูงกว่า
ทั้งนี้ พ.ต.อ.สุชาติ ยกตัวอย่างกล้องวงจรปิดของกรุงเทพฯ ว่า กว่า 90% จะไม่เห็นหน้าคนร้ายชัดเจน เพราะเป็นกล้องที่ติดเพื่อดูสภาพการจราจรเป็นหลัก ตำรวจใช้ได้แต่ดูพฤติกรรมของคนร้าย แต่กล้องที่จับภาพใบหน้าคนร้ายได้ชัดเจนกลับเป็นกล้องวงจรปิดของเอกชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นกล้องจากตู้เอทีเอ็ม ร้านสะดวกซื้อ หรือธนาคารต่างๆ
ซึ่งสรุปแล้วก็คือ เมื่อโจรปล้นร้านทองหรือร้านค้า กล้องวงจรปิดที่รัฐติดตั้งไว้ไม่สามารถระบุรูปพรรณสัณฐานของคนร้ายได้ และเกือบทุกคดีตำรวจต้องขอภาพจากกล้องวงจรปิดจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นผู้เสียหายแทบทั้งนั้น
นั่นจึงเป็นคำตอบว่า เพราะอะไรเมื่อมีเหตุร้าย เหตุวินาศกรรม วางระเบิด คนกรุงจึงตื่นตระหนกแทบไม่เป็นอันกินอันนอน




1 comment:

Anonymous said...

เห็นด้วยกับความคิดของท่านรองสุชาติ ครับ

รัฐบาลน่าจะใส่ใจกับความปลอดภัยของประชาชน มัวแต่คอรัปชั่น โกงกินเฉพาะในหมู่ของตัวเอง ต่างชาติไม่มีใครอยากเข้ามาประเทศไทยกันแล้วรู้ไม๊ พณฯ ท่านทั้งหลายคร๊าบ !!!