Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Sunday, August 15, 2010

ขัดแย้งอย่างเป็นสุข และขัดแย้งแต่ไม่ขัดขา

ขัดแย้งอย่างเป็นสุข และขัดแย้งแต่ไม่ขัดขา

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า “สมานฉันท์” กันมากจนแทบจะอาเจียนกันแล้วละครับ ความจริงเจ้าคำ“สมานฉันท์” นี้น่าจะมาฮิตกันเมื่อเร็วๆนี้เอง ไม่น่าจะเกิน 5 ปีครับ สงสัยเหมือนกันว่าแต่ก่อนประเทศเราเคยมีสมานฉันท์หรือเปล่า

เท่าที่ผู้เขียนจำความได้ ประเทศเรามีความขัดแย้งกันบ้างเหมือนกัน แต่เป็นครั้งคราว ไม่บ่อยนัก และคงขัดแย้งเล็กๆน้อยๆ จึงไม่จำเป็นต้องมีสมานฉันท์

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะความขัดแย้งในบ้านเรามีแค่กลุ่มย่อยๆ 2 กลุ่ม จึงมีคนเกี่ยวข้องไม่กี่คน ไม่มากพอที่จะเป็นความขัดแย้งของทั้งประเทศ พอจะเจรจาตกลงกันได้ เรื่องขัดแย้งก็เลยเคลียร์ๆกันไป จนคนรุ่นหลังๆลืมเลือนกัน

จริงๆแล้ว ความขัดแย้งทุกเรื่อง มีที่มาจากผลประโยชน์ตนหรือพวกตนครับ ซึ่งทางพระเรียกว่า “กิเลส” เจ้าตัวผลประโยชน์หรือกิเลสนี้แหละ ถ้าไม่ลงตัวแบบ วิน-วิน แล้วละก็ เป็นเรื่องทีเดียว ทำเอาส่วนรวมวุ่นกันไปหมด

สงสัยจริงๆครับว่าสาเหตุที่ปัจจุบันในประเทศเราขัดแย้งกันมากๆ จนถึงกับต้องสมานฉันท์นั้น เป็นเพราะอะไร

ทางภาคใต้ของเราก็เหมือนกันครับ มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ กันเป็นสิบๆคณะ มีการวิเคราะห์กัน ถึงขนาดต้องขุดประวัติศาสตร์ตั้งแต่ศักราชโบราณมาเล่า ทั้งที่ประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเราก็ไม่ชัดและไม่รู้ว่าน่าเชื่อถือมากแค่ไหน

ขัดแย้งเพราะเราคิดเล็กคิดน้อยหรือเปล่า?

หลายคนหงุดหงิดกับความขัดแย้ง เพราะมันน่ารำคาญนะครับ ไปไหนก็มีแต่คนโต้เถียง กล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีกัน ขึ้นแท็กซี่ ยังโดนไล่ลงถ้าวิจารณ์เรื่องขัดแย้งไม่เข้าหูคนขับ

บ้านเมืองเราเป็นแบบนี้ไปแล้วครับ หนังตลกไม่มีสาระ (แต่คลายเครียดได้) จึงโกยเงินเอา โกยเงินเอา

ความจริงเหตุที่เราขัดแย้งกัน อาจจะมีสาเหตุมาจากเราคิดเล็กคิดน้อยกระมัง เรื่องทุกเรื่อง ถ้าไม่ยกมาเป็นเรื่อง มันก็ไม่เป็นเรื่องครับ เพราะถึงจะไม่เห็นด้วย เราก็พอทนๆกันไปได้

เรื่องเล็กๆน้อยๆ ถ้าไม่เอามาเป็นอารมณ์ มันก็คงพอจะอภัยกันได้ วิธีหลีกเลี่ยงความขัดแย้งสามารถทำได้โดยตัวเราเองครับ วิธีการที่ว่าก็คือ คิดว่า
· ไม่เป็นไรครับ ทุกอย่างก็เรียบร้อยดี (denial)
· ไม่เป็นไรครับ เป็นเรื่องเล็กน้อย (minimizing)
· ไม่เป็นไรครับ ผมยกให้คนหนึ่ง (condoning)
· ไม่เป็นไรครับ ผมทนได้ (enduring)
· ไม่เป็นไรครับ ผมไม่สนหรอก (ignoring)
· ไม่เป็นไรครับ ตามใจคุณ (appeasing)

แต่ใครสร้างความขัดแย้งกันแน่?

ถ้าอย่างนั้น แล้วทุกๆวันนี้ใครทำเรื่องให้เป็นเรื่องครับ ถ้าไม่ใช่คนขายข่าว ลองคิดดูนะครับถ้าตื่นเช้า เราไม่มีรายการวิทยุหรือทีวี เสนอข่าวเล่าเรื่องความขัดแย้งของพรรคต่างๆ ไม่มีใครเล่าเรื่องนักการเมืองทะเลาะกัน ไม่มีใครเล่าเรื่องนักวิชาการวิจารณ์การเมือง(แบบกลางแต่เอียงข้าง) ก็คงไม่มีอะไรมากระตุ้นต่อมเครียด

ถ้าเช้าๆวันไหน มีแต่เรื่องชาติบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า มีแต่ข่าวบันเทิง ข่าวบุญกุศล กับข่าวศิริมงคล มากระทบหู วันนั้นดัชนีความสุขของคนไทยคงจะมากขึ้น ยิ่งถ้าตอนบ่ายมีหวยออกด้วย วันนั้นก็ถือเป็น “วันมงคลแห่งชาติ” ได้เลย

เรื่องของคนอื่นเขา แต่เอาเราไปเกี่ยวด้วย

คิดดีๆ จะเห็นว่า ความขัดแย้งทั้งหลายนั้น เป็นเรื่องคนอื่นขัดแย้งผลประโยชน์กัน แต่เขาลากเอาเรามาเกี่ยวด้วย ตัวละครเอกมีอยู่ไม่กี่คน เราเองไม่ได้เป็นตัวละคร เขายังเอาเราไปเป็นตัวประกอบจนได้ คงได้ยินกันอยู่บ่อยๆที่เขาอ้างว่าเป็นผลประโยชน์ของประชาชน ทำเพื่อประชาชน ทำเพื่อชาติ (แต่ที่แท้เขาทำเพื่อประโยชน์ตนทั้งนั้น)

การเมืองในสมัยก่อนเวลาขัดแย้ง อย่างดีก็ไม่ร่วมมือ วอล์คเอาท์ ขัดขวาง หรืออย่างมาก ก็ให้สัมภาษณ์หรือเขียนข่าวโจมตี แต่เดี๋ยวนี้พัฒนาเลยไปถึงขั้นรวบรวมผู้คนมาชุมนุมหรือจัดม็อบ เพิ่มความกดดันให้ฝ่ายตรงข้าม และกดดันให้สังคมวุ่นวายด้วย

แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร เพราะเวลาเราจะเดินทางไปไหน ต้องเลือกเส้นทางหลบเลี่ยง

ถ้าจำเป็นต้องไปใกล้เคียงบริเวณที่ชุมนุม ต้องคอยหลบลูกหลงด้วย ชีวิตพวกเราพลอยได้รับผลกระทบทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกม็อบเขาเรียกร้องอะไร

คนไทยด้วยกันก็คงทนกันไปได้ แต่คนต่างชาติเขาไม่ทนครับ เขาบอกต่อว่าอย่ามาเที่ยวเมืองไทย อย่ามาลงทุนในบ้านเมืองที่มีแต่ความวุ่นวาย

ต้องเคารพกติกา และบังคับตามกติกาได้

เดี๋ยวนี้ความขัดแย้งทางการเมืองกลายพันธุ์ไปแล้ว เล่นแรงจนกลายเป็นการต่อสู้ทางการเมือง ครับการต่อสู้ก็ต้องมีกติกา และเมื่อวิธีการต่อสู้ดุเดือดขึ้น กติกาก็ต้องปรับตามไปด้วย

ถ้าไม่มีกติกามากำกับการต่อสู้ ต่อไปการกล่าวหาใส่ร้ายป้ายสีกัน ก็จะรุนแรงเลยไปถึงขั้นทำร้าย และทำลายล้างกัน

วิธีที่จะควบคุมมิให้ความขัดแย้งยกระดับไปถึงขั้นทำลายล้าง ก็ต้องสร้างกติกาที่เคารพกันทั้งสองฝ่าย และมีคนคุมกฎกติกานั้น

กติกาต้องเป็นธรรมและต้องเคารพกติกาด้วย นักกฎหมายไทยเราน่าจะมีสติปัญญาพอที่จะเขียนให้ชัดเจน อย่าเขียนสั้นนัก..เขียนยาวอีกหน่อยก็ได้ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาตีความ ...วินิจฉัยหรือพิพากษาได้รวดเร็ว ซึ่งจะทำให้บังคับใช้กฎหมายสะดวกขึ้น

ตอนที่ขัดแย้งกันทีไร ไม่มีใครสนใจกติกา ลืมกติกากันหมด เพราะฉะนั้นต้องมีคนคุมกติกา คอยเตือนให้เคารพกติกา คนที่คุมกติกาต้องเป็นกลาง ไม่เอียงข้าง และกติกาต้องบังคับได้ทันที ไม่ใช่ปล่อยให้การต่อสู้เลยไปไกลแล้ว ค่อยมาบังคับกติกา

ความยุติธรรมที่ต้องพิสูจน์?

ความยุติธรรมของประเทศเราน่าจะมีปัญหาแน่นอน เพราะตั้งแต่มีความขัดแย้งในชาติ ใครๆก็ร้องหาให้ศาลช่วยแก้วิกฤต มีชื่อเรียกอยู่สองคำคือ “ตุลาการภิวัฒน์” กับ กระบวนการ “ยุติความเป็นธรรม”

ทำให้สับสนว่า แผ่นดินนี้มีความยุติธรรมนั้นหรือเปล่า หรือเมื่อก่อนมีความยุติธรรมมากแต่เดี๋ยวนี้มีความยุติธรรมน้อยลง หรือว่าความยุติธรรมมีจริงแต่ไม่ใช่ได้มาฟรีๆ อยากได้ต้องแสวงหาด้วยความเหน็ดเหนื่อย หรือว่าต้องซื้อหาด้วยราคาแพง(มีคนจ่ายเป็นหมื่นล้าน!!) หรืออาจจะต้องใช้จ่ายซื้อหาจนหมดเนื้อหมดตัว

ถ้าไม่เชื่อ ลองดูขบวนการ “ล่าล้านชื่อถวายฎีกา” แสดงว่า การต่อสู้ที่ผ่านๆมายังไม่ได้ยอมรับกติกา เพราะอ้างว่ายังไม่ได้รับความยุติธรรม และ โอ้โฮ !!!...ถึงตายไปแล้ว วิญญาณก็ยังแสวงหาความยุติธรรมอยู่

แผ่นดินจะลุกเป็นไฟ

ถ้าจะต่อสู้เพื่อแสวงหาความยุติธรรม ขอให้จงทำต่อไป ผู้เขียนขอสนับสนุนอย่างยิ่ง

จะทวงถามจากใครผู้เขียนไม่รู้ แต่จะปั่นกระแสให้สูงขึ้นจนทั้งแผ่นดินมีอารมณ์ร่วมนั้น ดูเหมือนจะยากสักหน่อย

ประเทศนี้จุดไฟติดยากครับ เผ่าพันธุ์นี้กลไกสมองคงซับซ้อนไม่เหมือนมนุษย์ทั่วไป เพราะไม่เคยมีจารึกในประวัติศาสตร์เลยที่คนไทยลุกขึ้นต่อสู้การกดขี่ข่มเหง

สมัยอาณานิคม ต่างชาติรังแกประเทศเรา เราก็ไม่เคยเอามาใส่สมองให้คิดเจ็บใจ วัฒนธรรมไทยแบบเอาตัวรอด หรือสยบต่ออำนาจ สอนเราว่า “อย่าเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง”

“นางรัตนาฯ บ้านสีดำ” ต่อสู้เพื่อหาความยุติธรรม อยู่ตั้งหลายปี ไม่มีแฟนคลับ ไม่มีกลุ่มเพื่อนรัตนา ไม่มีจารึกในวิกิ (wikipedia) ไม่ได้เป็นแม่ตัวอย่างจากวีรกรรมการต่อสู้ที่เจ็บปวดและไม่ได้รับการยกย่องจากสังคม ไม่นานก็คงเลือนๆหายไป

แผ่นดินนี้ไม่ลุกเป็นไฟง่ายๆหรอกครับ ถึงจะโฟนอินสักกี่ครั้ง ก็น่าจะได้ผลแค่...อย่าลืมกันนะ!!!

ความขัดแย้ง....เป็นเรื่องธรรมดา

ความขัดแย้งกันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ พระเจ้าไม่ยอมสร้างมนุษย์ให้คิดเหมือนๆกัน ฉะนั้นในชีวิตคนเรา ถ้าเราไม่เห็นขัดแย้งกับใครเลย สงสัยต้องไปเช็คสมองดูว่าใช้สมองน้อยเกินไปหรือเปล่า

ความคิดที่ไม่เหมือนกันนี้ทำให้มีความหลากหลาย มีมุมมองต่างๆกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาปรับปรุง สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ใหม่ๆ นอกจากนี้ ความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันยังช่วยถ่วงดุล ทำให้คิดรอบคอบ ตรวจสอบกันและกันในทุกๆเรื่อง

วันนี้เห็นแย้งกัน พรุ่งนี้อาจจะเห็นเหมือน หรืออาจจะเห็นเหมือนกันบางเรื่อง แต่เรื่องอื่นบางเรื่อง ก็เห็นต่างกัน...ก็เป็นไปได้

ความขัดแย้งที่ไปถึงขั้นรุนแรงเป็นสงคราม ..ก็ยังกลับคืนสู่สันติภาพได้ ไม่มีความขัดแย้งแบบยืนยาว คงทน

สงครามที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง แม้จะมีหายนะเกิดแต่ก็มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นหลังจากนั้นด้วย อย่างน้อยเทคโนโลยีด้านอาวุธก็ได้รับการพัฒนาไปอีกมากมาย และวิธีเจรจายุติความขัดแย้ง ก็ได้รับการปรับให้ทันต่อสถานการณ์ ไม่ปล่อยให้พัฒนาไปถึงขั้นรุนแรง

สมานฉันท์นั้นไม่จำเป็นต้องเห็นเหมือน เห็นต่างก็สมานฉันท์ได้

ขัดแย้งกันเป็นเรื่องธรรมดา อยากคิดอะไรก็คิดไป ...ห้ามความคิดกัน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ความขัดแย้งแสดงถึงเสรีภาพทางความคิด เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของประชาธิปไตย เราต้องยอมรับความแตกต่างทางความคิด มิฉะนั้นเราก็ไม่มีวันได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันโดยที่เห็นต่างกัน

ขอให้ทำใจให้เป็นสุขแม้จะเห็นไม่ตรงกัน


ขัดแย้งกันต่อไปเถิดครับ..เพราะผู้เขียนเริ่มชอบความขัดแย้งแล้ว แต่อย่าขัดขากลั่นแกล้งทำลายล้างกัน ประเทศเราไม่เคยมีประสพการณ์ความขัดแย้งแบบนี้มาก่อน จะได้ค่อยๆเรียนรู้และอยู่ร่วมกันไป ....แล้วเราก็จะรู้ว่าขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา

1 สิงหาคม 2552

No comments: