Welcome to my blog!

Hi Everyone! Enjoy!

Friday, October 19, 2007

หน่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 9-1-1

หน่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 9-1-1

กรกฎาคม 2548

ชีวิตคนเรานั้น ไม่แน่นอน อาจมีโชคหรืออับโชคได้ แล้วแต่บุญกรรมของตน สักวันหนึ่งท่านอาจประสบเหตุร้ายๆ บ้างก็ได้ (ขอโทษครับผมไม่ได้แช่ง).....แต่ท่านทราบหรือไม่ครับว่า ถ้าท่านประสบเหตุฉุกเฉิน แล้วท่านจะแก้สถานการณ์อย่างไร จะขอความช่วยเหลือจากใคร
ทุกประเทศในโลก รัฐมีหน้าที่ดูแลในเรื่องรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว เขาจะทำระบบบริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางโทรศัพท์ไว้สำหรับให้ประชาชนแจ้งมายังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง ถามว่าทำไมต้องเป็นโทรศัพท์ คำตอบก็คือ โทรศัพท์เป็นเครื่องมือสื่อสารที่สะดวกที่สุดระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน
แนวคิดนี้มีมานาน 60-70 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ.1937 อังกฤษเป็นประเทศแรกที่ทำระบบนี้ เขาใช้หมายเลข 999 หลังจากนั้น เมื่อมนุษย์มีโทรศัพท์ใช้แพร่หลายมากขึ้น ประเทศต่างๆก็เริ่มทำระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินทางโทรศัพท์บ้าง ในปี 1957 หน่วยดับเพลิงในอเมริกาก็กำหนดให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศในการแจ้งไฟไหม้ (ซึ่งตามประวัติไม่มีระบุว่าใช้เบอร์ใด)
แต่ปรากฎว่าต่อมาในปี 1967 คณะกรรมการบริหารกิจการด้านตำรวจและงานยุติธรรม (President’s Crime Commission on Law Enforcement and Administration of Justice) ของประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม และแนะนำให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศในการแจ้งเหตุฉุกเฉิน และเบอร์ที่ว่าก็คือ 9-1-1 (อ่านว่า nine-one-one บางทีเขียนเป็น 911 โดยไม่มีขีดระหว่างตัวเลข แต่ก็ไม่อ่าน nine- eleven เพราะไม่ใช่ 11 กันยา วันอเมริกาวินาศ บังเอิญตัวเลขมาตรงกันพอดี.......แปลก)

ประกาศกฎหมาย 911

นโยบายนี้เองที่คณะกรรมการสื่อสารแห่งชาติหรือหน่วยงาน กทช. ของอเมริกา ซึ่งเรียกชื่อว่า FCC (Federal Communications Commission) ได้ร่วมกับบริษัทสื่อสาร AT&T (American Telephone and Telegraph) กำหนดหมายเลข 911 เป็นเบอร์ฉุกเฉิน ซึ่งต่อมาในปี 1973 รัฐบาลก็ประกาศให้ระดมทำระบบ 911 ทั่วทั้งประเทศ พร้อมกับได้ออกเป็นกฎหมายหลักของประเทศ และกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆให้แก่หน่วยที่รับโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อบริการสาธารณะในพื้นที่
ใช่แล้วครับ เมื่อมีประชาชนโทรแจ้งเหตุร้าย ต้องจัดให้มีผู้รับสายด้วย และต้องเพียงพอต่อการบริการ ผู้รับโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินนี้ ไม่ใช่โอเปอเรเตอร์ธรรมดา แต่ต้องเป็นผู้ที่สามารถแก้ปัญหาขั้นต้นให้แก่ผู้ประสบเหตุนั้นได้ทันที นั่นคือ เจ้าหน้าที่ที่ว่านี้ ถ้าจำเป็น ต้องส่งเจ้าหน้าที่มาให้การช่วยเหลือแก่ผู้เคราะห์ร้ายนั้นได้
ยังมีอีกครับ การช่วยเหลือจะให้เฉพาะแก่พื้นที่ของตน กล่าวคือ เมื่อประชาชนในพื้นที่หนึ่ง โทรหมายเลขฉุกเฉินจะต้องโยงมาเข้าโอเปอเรเตอร์ในพื้นที่นั้นๆ (ไม่ใช่ประชาชนโทรเบอร์ฉุกเฉินจากยะลา ปรากฎว่าไปเข้าโอเปอเรเตอร์ที่ กทม.รับสาย ) ฉะนั้น กฎหมายแม่ตัวนี้จึงต้องกำหนดให้บริษัทผู้ทำเครือข่ายโทรศัพท์ของอเมริกาจัดวางเครือข่ายให้เส้นทาง (routing) จากผู้โทรเบอร์ 911 โยงใยต่อไปยังจุดรับแจ้งเหตุ (public safety answering point) เรียกย่อว่า PSAP ซึ่งเขาจัดแบ่งให้แต่ละจุดครอบคลุมพื้นที่ตามเขตรับผิดชอบ
จุดรับแจ้งเหตุหรือ นี้จะกระจายอยู่มากมายทั่วประเทศ ตามแต่การจัดแบ่งเขตรับผิดชอบ มี PSAP อยู่ทุกเมือง เมืองหนึ่งอาจมีจุดเดียว แต่ถ้าเป็นเมืองขนาดใหญ่อาจมี PSAP มากกว่า 2 จุด ก็ได้

ผู้รับแจ้งเหตุและผู้ที่จัดเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือ

ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุ PSAP จะมีคนคอยบริการฉุกเฉินอยู่ 2 พวก คือ พวกที่รับสายหรือรับแจ้งเหตุ กับพวกที่แจ้งผู้เกี่ยวข้องไประงับเหตุ
เมื่อท่านโทรศัพท์แจ้งเหตุไปยังหมายเลข 911 เจ้าหน้าที่ PSAP 2 พวกนี้ (ความจริงอาจเป็นคนเดียวกันก็ได้) คนหนึ่งทำหน้าที่รับสาย (คนนี้ เรียกชื่อว่า Calltaker) สอบถามข้อมูลของเหตุฉุกเฉินจากท่าน ส่วนอีกคนหนึ่งทำหน้าที่พิจารณาเลือกแจ้งให้เจ้าหน้าที่ (อาจเป็นตำรวจ หรือรถพยาบาล หรือดับเพลิง) ที่เหมาะสมเกี่ยวข้องกับเหตุฉุกเฉินนั้นมาช่วยเหลือท่าน (คนนี้ เรียกชื่อว่า Dispatcher)
ผู้ที่ทำงานที่ PSAP นี้ก็คือผู้ที่ให้บริการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน จะเป็นใครก็ได้แต่ต้องมีน้ำใจเมตตาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และผ่านการฝึกฝนการรับโทรศัพท์ฉุกเฉินมาแล้ว
ผู้ที่ทำหน้าที่ Calltaker นี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน อาจมาจาก ตำรวจ หรืออาสาสมัคร หรือหมอ พยาบาล ฯลฯ ก็ได้ คนเหล่านี้ทำงานภายใต้กฎหมายลูกๆ ซึ่งเรียกชื่อคล้ายๆกัน เช่น 911 Act, Emergency 911 System Act, Emergency Measures Act, Enhanced 911 Emergency Communications Act of 2003 เป็นต้น
ระบบ 911 ของอเมริกานั้น ได้พัฒนามานาน แม้จะครอบคลุมทั่วทั้งประเทศแล้ว แต่ เขาก็ยังพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ขณะนี้แนวโน้มการโทรแจ้งเหตุใน 4-5 ปีหลังๆ ประมาณว่าครึ่งหนึ่งมาจากโทรมือถือ ซึ่งในระบบ 911 เดิม บอกเบอร์โทรและที่อยู่ของผู้โทร แต่เป็นที่อยู่ทางไปรษณีย์ ไม่ใช่ที่อยู่จริงของผู้โทรจริงในขณะนั้น
ในปี 1999 (ก่อนวันถล่ม world trade ประมาณ 2 ปี) ประธานาธิบดีคลินตัน จึงลงนามบังคับใช้กฎหมาย Wireless Communications and Public Safety Act of 1999 ซึ่งกำหนดให้ใช้ 911 เป็นหมายเลขฉุกเฉินเบอร์เดียวกันทั้งกรณีแจ้งโทรฉุกเฉินทางสายและแจ้งโทรทางมือถือ และต่อมารัฐก็บังคับให้ทุกหน่วยร่วมกันทำระบบบอกเบอร์ (ANI ย่อจาก Automatic Number Identification) และตำแหน่งที่อยู่ (ALI ย่อจาก Automatic Location Identification) ของผู้แจ้ง(กรณีใช้มือถือ) ด้วย
เนื่องจากสังคมมีความเปลี่ยนแปลงของวิธีการสื่อสาร เขาจึงจำเป็นต้องปรับปรุงให้การรับแจ้งเหตุตอบสนองต่อระบบโทรศัพท์ที่เกิดขึ้นใหม่ด้วย เช่น การโทรผ่านตู้ชุมสายสาขา (PBX) และการโทรผ่านระบบอินเตอร์เนต (VoIP) ด้วย แม้แต่การบริการรับแจ้งเหตูของคนหูตึง (hearing impaired) และคนพูดภาษาต่างประเทศ (multilingual)

เหตุฉุกเฉินคืออะไร

เหตุฉุกเฉินมีหลายแบบ ยกตัวอย่างเช่น มีอาชญากรรมกำลังเกิดขึ้น อยู่ในสถานการณ์ที่คุกคามชีวิต โดนยาพิษ ถูกทำร้าย ถูกยิงหรือถูกแทง สำลัก หมดสติ จมน้ำ กำลังมีการต่อสู้โดยใช้อาวุธ อุบัติเหตุรถยนต์หรือจราจร มีการบาดเจ็บต้องส่งหมอ สารเคมีรั่วหรือหกเรี่ยราด สัญญาณเตือนไฟไหม้หรือเตือนภัยดัง ไฟฟ้าช็อตมีประกายไฟ มีควันลุกในอาคาร ฯลฯ ความฉุกเฉินมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเหตุ
บางเหตุที่ไม่ฉุกเฉิน โดยเฉพาะการโทรสอบถามข้อมูลต่างๆ และแจ้งเหตุอื่นที่ไม่ฉุกเฉิน ดังตัวอย่างเช่น แจ้งเหตุไฟฟ้าดับ แจ้งสัตว์เลี้ยงสูญหาย ขอรถลาก สอบถามเส้นทางจราจร สอบถามวันปิดวันเปิดวันหยุดโรงเรียน สอบถามการชำระค่าปรับ ขอเบอร์โทรหน่วยงานราชการ สอบถามดินฟ้าอากาศ แจ้งเหตุท่อประปาแตกรั่ว แจ้งไฟถนนดับ แจ้งเหตุสุนัขเห่าหนวกหู แจ้งเหตุงานเลี้ยงส่งเสียงดัง เดือดร้อนรำคาญ แจ้งเหตุขยะเหม็นเน่า ฯลฯ
โดยทั่วไป เหตุฉุกเฉินที่ประชาชนประสบ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
ก. เหตุที่ต้องแจ้งตำรวจ (Police) ประมาณ 70%
ข. เหตุที่ต้องพบหมอ (Ambulance) ,, 20%
ค. เหตุไฟไหม้ (Fire) ,, 10%
ทั้ง 3 เหตุนี้มีความเร่งด่วนที่ต้องช่วยเหลือทันที จากสถิติที่ผ่านมา เขาพบว่า ข้อ ก. เหตุที่ต้องแจ้งตำรวจ มีมากกว่าอีก 2 เหตุ คือ ข้อ ก. 70% ข้อ ข.และ ค. ประมาณ 20% และ 10% รวมเป็น 30%
องค์ประกอบสำคัญในการให้บริการฉุกเฉิน ได้แก่
ก. ต้องมีเจ้าหน้าที่ทำงานรับโทรศัพท์ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด และ
ข. สามารถจัดเจ้าหน้าที่ไปยังที่เกิดเหตุได้เร็วที่สุด นั่นคือจะต้องรู้ที่อยู่ของผู้ร้องขอความช่วยเหลือ
หากขาดสองข้อนี้ จะไม่ใช่บริการฉุกเฉิน กลายเป็นบริการรับโทรศัพท์ธรรมดาไม่ใช่ emergency ถ้าเอามาเป็นบริการฉุกเฉิน ก็จะเป็นบริการคุณภาพต่ำ
ด้วยเหตุผลนี้เองที่ ผู้ที่ทำหน้าที่ Calltaker และ Dispatcher จึงต้องผ่านการฝึกฝนมาอย่างดี เพราะสามารถทำงานภายใต้สภาวะกดดันได้ เข้าใจจิตวิทยาในการปลอบ การควบคุมอารมณ์ เพื่อให้ได้ข้อมูลพื้นฐานของเหตุฉุกเฉินจากผู้แจ้งเหตุซึ่งกำลังตื่นตระหนก

ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินของไทย

ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยเรามีเหตุฉุกเฉินเกิด ขึ้นอยู่บ่อยมาก โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดอยู่เป็นประจำ แต่เรายังมีหน่วยงานด้าน emergency ไม่ครอบคลุมพื้นที่สำคัญ
หัวใจของบริการฉุกเฉินก็คือ ต้องช่วยทันที ลดเวลาในการรอให้น้อยที่สุด ถ้าทำได้ตามนี้
1. จะช่วยรักษาชีวิตคนได้
2. จะลดความเสียหายให้น้อยลงได้ และ
3. จะช่วยเพิ่มโอกาสในการจับกุมคนร้ายได้มากขึ้น
แม้ว่าเรามีหน่วยงานด้าน emergency อยู่หลายหน่วย เช่น ไฟไหม้ ตำรวจ อุบัติภัย ดับเพลิง ศูนย์นเรนทร ร่วมด้วยช่วยกัน จส.100 ทุกหน่วยต่างก็ทำกันเต็มความสามารถ แต่ต่างก็ทำงานในส่วนของตน ทุกหน่วยต่างก็มีหมายเลขโทรศัพท์เป็นของตนเอง มีทั้ง 3 ตัว 4 ตัว 7 ตัว บางเบอร์โทรติดง่าย คนนิยมมาก บางเบอร์โทรติดยาก ต้องรอสายนาน แต่คงไม่ว่ากัน ต่างก็เข้มแข็งในงานบริการประชาชนในด้านที่ตัวเองสนใจและชำนาญ เช่นรถเสีย จราจรติดขัด เหตุคนบาดเจ็บ สำหรับภาคเอกชนอาจมีรายงานข่าวหรือโฆษณาสินค้ามาสลับในระหว่างบริการบ้าง แล้วแต่เหตุการณ์
ในมุมมองของประชาชนนั้น ส่วนรวมได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย คุณภาพการบริการอาจมีแตกต่างกันบ้างแล้วแต่นโยบายผู้บริหาร
ครับ ... แม้ว่า ประชาชนจะมีทางเลือกหลายทางในการขอความช่วยเหลือ แต่พอเกิดเหตุจริงๆ ผู้ประสบเหตุจะสับสน ไม่รู้จะโทรเบอร์ไหนดี ยิ่งโทรไม่ติด ยิ่งลนลานรีบร้อน ยิ่งโทรไม่ได้เลย ปัญหานี้เกิดขึ้นกับคนเดินทางอยู่เสมอ เพราะเมื่อเกิดเหตุร้ายหรือเหตุฉุกเฉินในระหว่างเดินทาง เราจะไม่แน่ใจว่าควรโทรเบอร์อะไร พอโทรเข้า ปรากฎว่าหน่วยงาน emergency เหล่านี้ มีบริการไม่ครอบคลุมพื้นที่ บางเหตุการณ์ซึ่งที่เกิดเหตุอยู่ห่างไกล กว่าจะประสานหน่วยในพื้นที่ได้ก็เหน็ดเหนื่อย และสิ้นเปลืองเวลาไปพอสมควร
การมีหน่วยงานด้าน emergency มากมายเป็นข้อดีก็จริง แต่ความมากมายจะต้องมีคุณภาพด้วย เพื่อมิให้ผู้เคราะห์ร้ายต้องเสียเวลาแจ้งเหตุโดยเปล่าประโยชน์ ยิ่งกว่านั้นความมากมายจะต้องเป็นความมีระเบียบด้วย การบริการสาธารณะที่แก่งแย่งกันมักจะเกิดผลเสียหายได้เหมือนกัน (คงจำกันได้ หลายปีมาแล้วตอนที่ มูลนิธิ 2 มูลนิธิทะเลาะกันเพื่อแย่งกันเก็บศพ)

จัดระเบียบการให้บริการฉุกเฉิน

ลองดูว่า 911 เมืองนอก เขาทำงานอย่างไร ทำอย่างนี้ครับ เมื่อมีโทรเข้า 911 เขาไม่ต้องบอกว่าตนเองคือใคร หน่วยใด แต่เขาตอบสายว่า (ยกคำพูดที่เขาพูดมาเป็นตัวอย่าง)
9-1-1 emergency , what are you reporting?
City A 9-1-1 , may I help you?
What service do you require? Police, fire brigade or ambulance.
สังเกตว่าเขาไม่มีการรายงานตัวเหมือนบางหน่วยของเรา เขารีบถามเลยว่าคุณต้องการให้ช่วยอะไร หลังจากนั้นก็เป็นรูปแบบการสอบถามข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ชื่อผู้แจ้ง ที่เกิดเหตุ หมายเลขโทรของท่าน เกิดเหตุอะไร อย่างไร มีคนเจ็บหรือไม่ เป็นต้น เมื่อทราบข้อมูลพอสมควรแล้ว ก็จะโอนสาย หรือพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสม
สำหรับการรับสายนั้น แทบจะเรียกได้ว่าไม่ต้องรอ ไม่มีการปล่อยเสียงเพลงให้ฟังเพื่อรอสาย เพราะความฉุกเฉินจริงๆ ต้องให้รอน้อยที่สุด
แม้ว่าการบริการของ 911 จะเน้นเฉพาะเหตูฉุกเฉิน แต่บางครั้งก็อาจบริการอื่นๆที่ไม่ฉุกเฉินผสมไปด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็จะโอนส่งต่อไปให้หน่วยบริการที่ไม่ฉุกเฉินรับไป
ช่วยสังเกตุว่า คำถามของเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุตอบสายเมื่อท่านโทร 911 นั้น เขาไม่บอกว่าตนสังกัดหน่วยใด แปลว่าเขาทำงานให้สาธารณะโดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน หรือหน่วยที่ตนสังกัด

หลัก “One Nation One Number”

หลักเบอร์ฉุกเฉินเบอร์เดียวให้บริการครบวงจร หรือ “one nation one number” นี้ มีข้อดีเพราะเบอร์เดียว จำง่าย ไม่ต้องนึกเบอร์ ไม่สับสน และไม่ต้องนึกว่าจะโทรไปหาหน่วยงานใดดี เพราะเบอร์เดียว บริการเหตุฉุกเฉินได้ทุกประเภท ไม่ว่าตำรวจ รถพยาบาล หรือดับเพลิง หรือพิเศษอื่นๆ(ถ้ามี) ใช้เบอร์เดียวโทรได้ทั่วประเทศ เมื่อต้องการความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในประเทศ
แต่ถ้าถามว่าเมืองไทยควรใช้เบอร์ฉุกเฉินเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศหรือไม่ คำตอบ.... ก็คงต้องตอบว่าใช่ แต่ตอบแบบนี้ หน่วยบริการฉุกเฉินทั้งหลายคงไม่ยอมแน่ เพราะประเทศเราเคยมีประวัติการแย่งกันบริการสาธารณะมาแล้ว ดังนั้นรัฐต้องจัดระเบียบหน่วยบริการเหล่านี้ เพราะหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ในกรณีฉุกเฉินเป็นหน้าที่ของรัฐ ไม่ใช่ของหน่วยใดเพียงหน่วยเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือหลายหน่วย รัฐต้องเป็นเจ้าภาพ
สำหรับประเทศเรา ถ้าจัดระเบียบได้ดี หน่วยบริการฉุกเฉินทั้งหลายให้ความร่วมมือกัน ประชาชนก็จะได้รับบริการฉุกเฉินที่มีคุณภาพในระดับเหมือนๆ กันทั่วประเทศ คือ เมื่อโทรแล้วติดง่าย และมีผู้รับสาย และผู้ที่รับสายก็มีความสามารถในการช่วยเหลือเหตุฉุกเฉินได้ทันที ตลอดเวลา

งบประมาณสนับสนุน PSAP

หลังจากที่รัฐบาลกลางกำหนดให้มีศูนย์ 911 ทั่วประเทศ ตอนแรกก็มีงบสนับสนุนให้ แต่ต่อมาก็ชักจะเกิดปัญหาในการดูแล ฉะนั้นในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ได้มีการนำเสนอแนวคิดจัดสรรงบเพื่อเลี้ยงตัวเอง (self support funding structure) จากเงินในพื้นที่ของตน
แนวคิดนี้ได้นำไปหารือระหว่างหน่วยเกี่ยวข้อง เมื่อได้ข้อยุติ รัฐบาลกลางเขาก็ออกกฎหมายอนุญาตให้นำเงินค่าธรรมเนียมรายเดือน (monthly fee) จากผู้ใช้โทรศัพท์ในพื้นที่มาใช้เป็นงบประมาณในการบริหารจัดการของศูนย์รับแจ้งเหตุ ซึ่งเป็นจำนวนเงินเล็กน้อยแต่จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์มีมาก จึงได้ตัวเงินพอสมควร
แนวคิดการเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้โทรศัพท์นี้นับว่าชาญฉลาดมาก แต่ละพื้นที่ต้องคิดคำนวณเอง เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์ไม่เท่ากัน สูตรคำนวณแต่ละพื้นที่จึงเป็นสูตรใครสูตรมัน (อาจจะเป็นสูตรซับซ้อน แต่หลักคิดเป็นหลักการเดียวกัน คือ ผู้รับบริการโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินเป็นผู้จ่ายค่าบริการ) งบสนับสนุนนี้จึงไม่เท่ากัน ประมาณ 1-2 เหรียญสหรัฐต่อเดือน (ทั้งกรณีโทรศัพท์สายและกรณีโทรศัพท์มือถือ) อย่างไรก็ดี กรณีโทรศัพท์ฉุกเฉิน 911 แต่ละครั้ง จะไม่คิดค่าโทร ไม่ว่าจะโทรจากที่ใด เครื่องใด (no per call charge)

ระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินของไทย (อีกที)

ท่านลองชะโงกดูตารางโทรศัพท์ (ตอนท้ายบทความนี้) ผมยกมาให้ดูบางส่วน ทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน จะพบว่ามีความประหลาดอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรกทำไมเบอร์บริการมันเยอะมากจนจำไม่ไหว (บางเบอร์ ไม่รู้ว่ามีคนโทรเข้าไปบ้างหรือไม่ ถ้าไม่มีบริการ จะมีไว้ประดับหน่วยงานก็ไม่ว่ากัน) ประการที่สอง เบอร์ส่วนใหญ่เป็นของตำรวจ เบอร์เก่าแก่ที่สุด (ไม่ต่ำกว่า 25 ปี) คือ 191 (Police) กับ 199 (Fire) ก็เป็นของตำรวจ ยังไม่มีการปรับปรุงขยายไปไหน ไม่ทราบว่าเจอตัวเจ้าภาพแล้วหรือยัง
เบอร์เหตุฉุกเฉินอีกหนึ่งเหตุคือ 1669 (Ambulance) เพิ่งจะตั้งใหม่ (ไม่เกิน 5 ปี) แต่กำลังเติบโตตามนโยบายสุขภาพของประเทศ ใช้หมายเลข 1669 สำหรับการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือและการขอคำแนะนำฉุกเฉินแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าบริการ การใช้หมายเลขนี้ในพื้นที่จังหวัดใดจะตรงเข้าสู่โรงพยาบาลประจำจังหวัดนั้น ๆ ยกเว้นในส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเข้าตรงมายังศูนย์ "นเรนทร" กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์ "นเรนทร" จะมีเจ้าหน้าที่ประจำ 2 คน ซึ่งจะเป็นผู้รับแจ้งเหตุและให้คำแนะนำแก่ประชาชนโดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์อีกชั้นหนึ่ง

4 comments:

Anonymous said...

ขอบคุณนะค่ะ

Anonymous said...

This is really interesting, You're a very skilled blogger. I've joined your feed and look
forward to seeking more of your great post. Also, I
have shared your website in my social networks!
Here is my blog post :: diets that work fast for women

Anonymous said...

This is really interesting, You're a very skilled blogger. I've joined your feed and look forward to
seeking more of your great post. Also, I have shared your website
in my social networks!
My website :: diets that work fast for women

Anonymous said...

This is a very good tip particularly to those fresh to the blogosphere.
Short but very accurate info… Thanks for sharing this one.
A must read article!

My blog ... click here